นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยทั่วโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16.66 องศาเซลเซียส ทำให้ทั่วโลกมีอุณหภูมิพุ่งสูงทำลายสถิติเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน
นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์โคเปอร์นิคัส หน่วยงานสังเกตการณ์สภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นเดือน มิ.ย. ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยทั่วโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16.66 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีของเดือน มิ.ย. ประมาณ 1.2 องศาฯ ทำให้ระหว่างเดือน มิ.ย. 2566 - มิ.ย. 2567 อุณหภูมิของโลกทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ 13 เดือนติดต่อกัน และเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันที่โลกมีอุณหภูมิสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาฯ
นิโคลัส จูเลียน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศอาวุโสของโคเปอร์นิคัส กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเข้าใกล้ขีดจำกัดที่สำคัญมากที่ถูกกำหนดโดยข้อตกลงปารีส โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาฯ นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นขีดจำกัดภาวะโลกร้อนที่เกือบทุกประเทศในโลกเห็นพ้องกันในความตกลงปารีสปี 2558
ตามข้อมูลของโคเปอร์นิคัส เมื่อเดือน มิ.ย. 2567 โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16.66 องศาฯ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือน มิ.ย. ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ราว 0.67 องศาฯ ซึ่งทำลายสถิติเดือน มิ.ย. ที่ร้อนที่สุดที่เกิดขึ้นหนึ่งปีก่อนหน้านั้น 0.14 องศาฯ และถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสาม จากบรรดาเดือนใดๆ ที่มีการบันทึกไว้โดยโคเปอร์นิคัส รองจากเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของปีที่แล้ว
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ จากความร้อนในเดือนมิถุนายน เช่น ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ตุรกี แคนาดาตะวันออก ทางตะวันตกของสหรัฐฯ และเม็กซิโก บราซิล ไซบีเรียตอนเหนือ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และแอนตาร์กติกาตะวันตก ขณะที่ แพทย์ต้องรักษาผู้ป่วยโรคลมแดดหลายพันรายในปากีสถานเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากอุณหภูมิสูงถึง 47 องศาฯ
...
โคเปอร์นิคัสยังระบุว่า เดือน มิ.ย. ยังเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน ที่มหาสมุทรของโลก ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 ของพื้นผิวโลก ทำลายสถิติความร้อน
ความร้อนส่วนใหญ่ เกิดจากความร้อนในระยะยาวจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยพลังงานความร้อนจำนวนมหาศาลที่ถูกเก็บกักไว้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ จะไหลลงสู่มหาสมุทรโดยตรง และมหาสมุทรเหล่านั้นใช้เวลานานกว่าปกติในการทำให้อุ่นและเย็นลง
วัฏจักรตามธรรมชาติของปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยเอลนีโญมีแนวโน้มที่จะทำให้สถิติอุณหภูมิโลกสูงขึ้น และเอลนีโญที่มีความรุนแรงซึ่งก่อตัวเมื่อปีที่แล้ว ได้สิ้นสุดเมื่อเดือน มิ.ย.
จูเลียนกล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันทั่วโลกในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. แม้จะยังร้อน แต่ก็ไม่ได้อบอุ่นเหมือนปีที่แล้ว
โคเปอร์นิคัสใช้การวัดอุณหภูมิหลายพันล้านครั้งจากดาวเทียม เรือ เครื่องบิน และสถานีตรวจอากาศทั่วโลก จากนั้นจึงวิเคราะห์อีกครั้งด้วยการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ขณะที่หน่วยงานวิทยาศาสตร์ของประเทศอื่นๆ หลายแห่ง รวมถึง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA และองค์การนาซา ก็ได้คำนวณสภาพอากาศรายเดือนเช่นกัน แต่ใช้เวลานานกว่า ย้อนเวลากลับไปได้ไกลกว่า แต่ไม่ใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์.
ที่มา AP
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign