“เกาหลีใต้” คือหนึ่งในประเทศที่มีปัญหา ภาวะการเจริญพันธุ์ตกต่ำ หรือปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยในปี 2566 มีอัตราการเกิดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.72 เท่ากับว่าคู่รักชาวเกาหลีใต้แทบไม่มีบุตรเลย ส่งผลให้เกาหลีใต้เผชิญกับปัญหาการลดลงของประชากรภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยต้องมีอัตราการเกิดเฉลี่ย 2.1 จึงจะเพียงพอในการรักษาระดับของจำนวนประชากรในเกาหลีใต้ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 51 ล้านคน ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุในประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ประกาศให้ “ปัญหาประชากรลดลง” เป็น “ภาวะฉุกเฉิน” อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะพยายามใช้ทุกมาตรการใน การจัดการแก้ไขปัญหานี้ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักสำคัญ คือ 1.การสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงาน 2.พัฒนาการดูแลเด็กเล็ก และ 3.จัดหาที่พักอาศัยที่ดีกว่าเดิมให้แก่ประชาชนเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ หลังรัฐบาลเกาหลีใต้พยายามสร้างแรงจูงใจมากมายให้คนอยากมีลูกมาหลายสิบปี รวมทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนว่า การมีบุตรจะนำพามาซึ่งความสุข แต่ยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร เพราะมีความท้าทายหลายประการ ส่งผลให้คนเกาหลีใต้เลือกที่จะ ครองตนเป็นโสด หรือไม่มีบุตร เช่น ที่อยู่อาศัยและการศึกษามีราคาแพง รวมทั้งช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนาน
ในคราวนี้ นายอี ซังมิน รมว.มหาดไทยของเกาหลีใต้แถลงว่า รัฐบาลเตรียมเสนอจัดตั้งกระทรวง แห่งใหม่ คือ “กระทรวงวางแผนประชากร” เพื่อ รับมือและแก้ไขปัญหาด้านประชากรในระยะกลางถึงระยะยาว ผ่านนโยบายด้านอัตราการเกิดต่ำ สังคมผู้สูงอายุ แรงงานและผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ส่วนนายคิม จองกี อธิบดีกระทรวงมหาดไทยของเกาหลีใต้ระบุว่า หน่วยงานนี้ยังมุ่งเน้นที่นโยบายด้านการเปิดรับผู้อพยพโดยเฉพาะ เพื่อดึงดูดให้ประชากรวัยแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศ พร้อมชี้ว่า แรงงานต่างชาติเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอมติเห็นชอบจากรัฐสภาและอาจใช้เวลาราว 3 เดือน เพื่อจัดตั้งกระทรวงแห่งใหม่
...
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ของเกาหลีใต้ยังจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการรับมืออัตราการเกิดต่ำ และสังคมผู้สูงอายุ และสถาบันประชากรเพื่ออนาคต คาบสมุทรเกาหลี โดยนายอี กีอิล รอง รมว.สาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้หวังว่า กระทรวงใหม่ที่เสนอให้จัดตั้งขึ้นจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการ และการได้รับความร่วมมือจากทุกๆคน ยังเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการปัญหาวิกฤติประชากรเช่นกัน.
ญาทิตา เอราวรรณ