เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “จางจวิ้นฝู” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทยฝากบอกมาว่า ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้ากับไทยได้มาถึงจุดที่น่ายินดีอีกครั้ง

หลังจากเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ได้มีการลงนาม กับนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) ใน ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไต้หวัน-ไทย ที่เจรจามานานกว่า 2 ปี

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย แจ้งว่าความตกลงการลงทุนไต้หวัน-ไทยฉบับเดิมมีผลใช้บังคับเมื่อปี 2539 จนถึงบัดนี้ล่วงเลยมา 28 ปีแล้ว กฎเกณฑ์ข้อกำหนดต่างๆของ การลงทุนระหว่างประเทศและลักษณะการลงทุน นับวันยิ่งมีความหลากหลายมากกว่าเดิม ความตกลงฉบับเดิมจึงไม่สามารถเติมเต็มความต้องการ ของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายในการลงทุนนอกดินแดนของตน

ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงหารือกันในการลงนามความตกลงฉบับใหม่ เพื่ออำนวยการคุ้มครองและเพิ่มพูนความเชื่อมั่น ของนักลงทุนทั้งสองฝ่าย โดยสาระสำคัญที่เพิ่มเติมในความตกลงฉบับใหม่ครั้งนี้ มีทั้งหมดอยู่ 5 ประการ

ประการแรก กฎระเบียบและการส่งเสริมการลงทุนที่โปร่งใส เพื่อเป็นการรับรองว่าขั้นตอน การยื่นขอการลงทุนมีความชัดเจนและโปร่งใส หากมีการบัญญัติหรือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ควรมีการประกาศให้สาธารณชนทราบทันที

ประการสอง จัดให้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจทำหน้าที่เป็นช่องทางติดต่อด้านการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายจะระบุเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจในการประสานงานและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการลงทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การลงทุนอย่างทันท่วงที

...

ประการสาม ในกรณีที่เกิดข้อพิพาททาง การลงทุน รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการการลงทุนร่วม เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการจัดการข้อพิพาท เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กระบวนการจัดการข้อพิพาทที่ต้องใช้เวลายาวนาน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขข้อพิพาทด้านการลงทุนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เสียดายที่วันนี้เนื้อที่หมดแล้ว ไว้วันพรุ่งนี้จะมาอัปเดตเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงที่ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 5 ถัดจากฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนามและแคนาดาที่ลงนามความตกลงด้านการลงทุนกับไต้หวัน นับแต่ปี 2559 มีรายละเอียดเช่นไรอีกครับผม.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม