การสำรวจอวกาศเป็นสิ่งที่ดึงดูดจินตนาการ ของคนเรามายาวนาน กับความหวังที่จะค้นพบโลกใหม่ และขยายขอบเขตความสามารถของมนุษย์ ฯลฯ ทุกวันนี้การเดินทางในอวกาศไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นนักบินอวกาศอีกต่อไป เนื่องจากการเติบโตของบริษัทขนส่งด้านอวกาศเอกชน ที่มีเป้าหมายขายทริปนำผู้มีกำลังทรัพย์ไปเปิดประสบการณ์ บนอวกาศเหนือโลก นับเป็นการท่องเที่ยวที่เหนือชั้นขึ้นไปอีกแบบ

ทว่ากลุ่มนักเดินทางที่ไปยังอวกาศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีที่อายุไม่ใช่น้อย อาจมีสุขภาพไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือกับการอยู่ในอวกาศ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ อีกทั้งก็ไม่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพหรือฝึกฝนร่างกายอย่างเข้มงวดแบบนักบินอวกาศอาชีพ ดังนั้นการวางแผนท่องเที่ยวอวกาศสำหรับคนรวยพวกนี้จึงต้องพิจารณาถึงภาวะสุขภาพ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว เบาหวาน รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ เพราะสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำของอวกาศ ร่างกายมนุษย์จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การกระจายตัวของของเหลวในร่างกายที่ทำให้เกิด อาการหน้าบวม แข้งขาบวมเพราะหลอดเลือดดำ ที่ขามีปริมาณลดลง และแรงดันในหลอดเลือดดำที่ส่วนบนของร่างกายเพิ่มขึ้น คนที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้นระบบหัวใจและหลอดเลือดจะปรับตัว เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้

แต่กับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ความเสี่ยงจะสูงกว่ามาก แรกคือเกี่ยวข้องกับหัวใจที่อ่อนแอ ซึ่งไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประเภทที่ 2 คือหัวใจไม่สามารถผ่อนคลายและสูบฉีดเลือดได้อย่างเหมาะสม ภาวะหัวใจล้มเหลวแต่ละประเภทจึงมีความท้าทายเฉพาะตัว

ล่าสุดมีงานวิจัยเผยแพร่ลงวารสาร Frontiers in Physiology ถึงการสร้างแบบจำลองเชิงคำนวณเพื่อจำลองผลกระทบของแรงโน้มถ่วงต่ำ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ 21 ช่องของระบบหัวใจและหลอดเลือดมาปรับปรุงตัวแปรเสริม แบบจำลองเชิงคำนวณนี้จะคาดการณ์ว่าผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวจะตอบสนองอย่างไรเมื่อเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งจะมีการเพิ่มปริมาณเลือดไหลเวียนในหัวใจ และหากเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในหัวใจที่เพิ่มขึ้นนี้จะมาพร้อมกับความดันในห้องหัวใจด้านซ้ายที่เพิ่มขึ้นอย่างอันตราย อาจนำไปสู่ภาวะบวมน้ำในปอด ทำให้หายใจลำบาก

...

อีกแนวทางที่ถูกนำเสนอคือการพัฒนาฝาแฝดดิจิทัลของมนุษย์ ในรูปแบบจำลองเสมือนจริงที่มีรายละเอียดสูงของระบบสรีรวิทยาของบุคคล ที่จะทำให้นักวิจัยจำลองสถานการณ์และคาดการณ์ว่าสภาวะต่างๆ เช่น แรงโน้มถ่วงต่ำจะส่งผลต่อสุขภาพบุคคลอย่างไร เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงส่วนบุคคลและกำหนดวิธีรับมือที่เหมาะสมได้.

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม