ที่บริเวณใจกลางกาแล็กซีทาง ช้างเผือกของเรา มีหลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive Black Hole) ที่มีมวลมากกว่ามวลดวงอาทิตย์ของเราถึง 4 ล้านเท่า หลุมดำมวลแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า ซาจิทาเรียส-เอ-สตาร์ (Sagittarius A* หรือเขียนแบบย่อว่า Sgr A*) นักดาราศาสตร์บางคนให้ฉายาว่า “ยักษ์ผู้อ่อนโยน” เนื่องจากความสงบนิ่งของมัน แต่เชื่อกันว่าสักวันหนึ่งซาจิทาเรียส-เอ-สตาร์ จะกลายเป็นเหมือนสัตว์ดุร้ายได้

เพราะเมื่อเร็วๆนี้ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรปในเยอรมนี เผยว่า กล้องโทรทรรศน์บนโลกและบนวงโคจรโลก ได้สังเกตเห็นความสว่างอย่างมากที่ใจกลางกาแล็กซีชื่อ SDSS1335+0728 อยู่ห่างจากโลกราว 360 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวหญิงสาว ความสว่างดังกล่าวดูเหมือนจะเกิดจากหลุมดำมวลยวดยิ่ง ที่ตื่นจากการอยู่นิ่งๆไม่เคลื่อนที่ โดยมันเริ่มกลืนกินวัตถุใกล้เคียง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ได้เห็นการเกิดขึ้นของกระบวนการ “ตื่นขึ้นของหลุมดำ”

นักดาราศาสตร์ระบุว่า หลุมดำมวลยวดยิ่งที่ใจกลางกาแล็กซี SDSS1335+0728 มีมวลราว 1 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และบริเวณสว่างกะทัดรัดที่ขับเคลื่อนโดยหลุมดำมวลมหึมาที่ใจกลางกาแล็กซี ก็มักเรียก นิวเคลียสกาแล็กซีกัมมันต์ (Active Galactic Nucleus-AGN) นิวเคลียสชนิดนี้มีลักษณะเฉพาะด้วยการเปล่งพลังงานจำนวนมากที่ความยาวคลื่นต่างๆ ตั้งแต่คลื่นวิทยุไปจนถึงรังสีแกมมา ถือเป็นหนึ่งในวัตถุที่ส่องสว่างมากที่สุดในจักรวาล การศึกษานิวเคลียสกาแล็กซีกัมมันต์ จึงสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจวิวัฒนาการกาแล็กซีและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบหลุมดำมวลยวดยิ่ง.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่