• จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ในซาอุดีอาระเบีย พุ่งทะลุ 1,000 ศพแล้ว ท่ามกลางปัญหาคลื่นความร้อนรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

  • แต่ความร้อนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ทางการซาอุฯ ถูกกล่าวหาว่าจัดการที่พักและการขนส่งไม่ดี ทำให้ผู้แสวงบุญต้องเดินทางไกลขึ้นและโดนแดดนานขึ้น

  • ขณะเดียวกัน ปัญหาผู้แสวงบุญที่ไม่ได้ลงทะเบียน ก็ยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลซาอุฯ แก้ไม่ตก และคนกลุ่มนี้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เต็นท์ที่พวกเขาจัดเอาไว้ไม่เพียงพอ

จำนวนผู้แสวงบุญที่เสียชีวิตระหว่างร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย พุ่งทะลุ 1,000 ศพแล้ว ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิกว่า 51 องศาเซลเซียส

ทูตอาหรับรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าว AFP ว่า มีชาวอียิปต์เสียชีวิตถึง 658 ศพ ขณะที่อินโดนีเซียยืนยันว่ามีพลเมืองของพวกเขาเสียชีวิตขณะไปแสวงบุญพิธีฮัจญ์มากกว่า 200 ศพ ส่วนอินเดียเผยว่ามีพลเมืองของพวกเขาเสียชีวิตแล้ว 98 ศพ ตามข้อมูลที่มีในตอนนี้

ทางการปากีสถาน, มาเลเซีย, จอร์แดน, อิหร่าน, เซเนกัล, ซูดาน และแคว้นเคอร์ดิสถานในอิรัก ต่างยื่นยันว่ามีพลเมืองของตัวเองเสียชีวิตระหว่างไปแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย ขณะที่สหรัฐฯ ก็เชื่อว่ามีพลเมืองของพวกเขาจำนวนหนึ่งเสียชีวิตด้วยเช่นกัน โดยหลายคนขาดการติดต่อ ทำให้บรรดาเพื่อนและญาติมิตรต้องประกาศตามหาผ่านโลกออนไลน์

พิธีฮัจญ์ เป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิม และชาวมุสลิมที่มีกำลังทรัพย์และสภาพร่างกายพร้อมจะต้องเดินทางมารวมตัวกันที่เนินเขาศักดิ์สิทธิ์ บนภูเขาอาราฟัต ในนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต เพื่อตามรอยและศักการะศาสดา โดยในปีนี้มีผู้มาร่วมพิธีฮัจญ์ถึง 1.8 ล้านคน

แต่ทุกปีมักจะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นเสมอ โดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก อย่างน้อย 5 อย่าง

...

ความร้อนรุนแรง

เชื่อกันว่าปัญหาคลื่นความร้อนรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในซาอุดีอาระเบีย เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในพิธีฮัจญ์ปีนี้พุ่งสูง

กระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบียประกาศเตือนไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ผู้แสวงบุญควรเลี่ยงการสัมผัสกับความร้อนโดยตรง และเติมน้ำให้ร่างกายเสมอ แต่ก็ยังมีผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก

ทั้งนี้เป็นเพราะผู้แสวงบุญที่เดินทางเข้ามาต้องเผชิญความเสี่ยงจากทั้งความร้อนที่ไม่คุ้นเคย, กิจกรรมที่ใช้กำลังกายมากระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ และการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน ทำให้หลายคนเสียชีวิตเพราะภาวะเครียดจากความร้อน และอาการฮีตสโตรก

การเสียชีวิตเพราะความร้อนระหว่างพิธีฮัจญ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1400 แล้ว ทว่าภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังทำให้ปัญหานี้เลวร้ายลง และหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อไร ความเสี่ยงเกิดฮีตสโตรกระหว่างพิธีฮัจญ์จะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า

คนมากเกิน-ปัญหาสุขอนามัย

อีกหนึ่งปัจจัยคือ จำนวนผู้แสวงบุญที่เดินทางเข้ามามากเกินจะรับไหว และปัญหาสุขอนามัย โดยมีรายงานมากมายกล่าวหาเจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียว่า บริหารจัดการผิดพลาด ทำให้เกิดวิกฤติในหลายพื้นที่ที่จัดไว้ให้ผู้แสวงบุญ

ผู้แสวงบุญหลายคนเผยว่า เจ้าหน้าที่บริหารจัดการที่พักอาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างย่ำแย่ เต็นท์ที่เตรียมไว้มีผู้เข้าพักเกินความจุ และมีเครื่องให้ความเย็น และการดูแลด้านสุขอนามัยไม่เพียงพอ

อามินา ผู้แสวงบุญจากอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน ระบุว่า เต็นท์ที่พวกเธออยู่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำเย็นที่ติดตั้งไว้ก็มักจะไม่มีน้ำ ภายในเต็นท์อึดอัดหายใจไม่ออก ทำให้พวกเธอเหงื่อโทรมกาย เป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก

ขณะที่ เฟาไซอาห์ ผู้แสวงบุญจากจาการ์ตา คิดเห็นตรงกันและระบุว่า มีผู้คนมากมายเป็นลมเพราะจำนวนคนที่มากเกินไป กับความร้อนที่เกินจะทานทนภายในเต็นท์ อย่างไรก็ตามเธอระบุว่า การบริหารจัดการพิธีฮัจญ์ในปีนี้เป็นการจัดการที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขของซาอุดีอาระเบียยืนยันว่า พวกเขากระจายทรัพยากรอย่างเต็มที่เพื่อสวัสดิภาพของผู้แสวงบุญ มีการเตรียมความพร้อมโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพ และคลินิกเคลื่อนถึงถึง 189 แห่ง ซึ่งสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากกว่า 6,500 คน และเจ้าหน้าที่การแพทย์, อาสาสมัคร และอื่นๆ อีกกว่า 40,000 คน

...

การขนส่ง

การขนส่งก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น เพราะผู้แสวงบุญมักต้องเดินทางไกลท่ามกลางอากาศร้อน ส่งผลให้พวกเขาต้องสัมผัสกับความร้อนมากขึ้น

ผู้แสวงบุญหลายคนกล่าวโทษว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะการปิดถนนและการบริหารจัดการไม่ดี เช่น นายมูฮัมหมัด อาคา ผู้จัดทัวร์แสวงบุญพิธีฮัจญ์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนผู้แสวงบุญอาจต้องเดินอย่างน้อย 15 กม. ใน 1 วัน จนหลายคนเป็นลมแดด, เหนื่อยล้า และขาดน้ำ

นายอาคา บอกอีกว่า ปีนี้เป็นการร่วมพิธีฮัจญ์ครั้งที่ 18 ของเขาแล้ว โดยในปีแรกทางกลับรถเพื่อไปยังเต็นท์ที่พักยังเปิดให้ใช้งาน แต่ตอนนี้เส้นทางเหล่านั้นถูกปิดหมดแล้ว ทำให้ผู้แสวงบุญทั่วไปต้องเดินไกลถึง 2.5 กม.กว่าจะถึงโซนเต็นท์ที่ใกล้ที่สุด ท่ามกลางอากาศร้อน

เส้นทางที่ถูกปิดยังทำให้หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา กว่าเจ้าหน้าที่จะเดินทางมาถึงก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที ไม่มีการเตรียมการเพื่อช่วยชีวิต หรือจุดให้น้ำระหว่างทางเลย

ผู้แสวงบุญผิดกฎหมาย

การจะเดินทางไปเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ได้นั้น ผู้แสวงบุญจำเป็นต้องยื่นขอวีซ่าพิเศษสำหรับพิธีฮัจญ์เท่านั้น แต่บางคนก็พยายามไปร่วมพิธีซึ่งกินระยะเวลา 5 วันนี้ โดยไม่ขอเอกสารอย่างถูกต้อง แม้ว่าทางการซาอุดีอาระเบียจะพยายามปราบปรามอย่างหนักก็ตาม

ผู้แสวงบุญผิดกฎหมายเหล่านี้มักหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ แม้ว่าตัวเองกำลังต้องการความช่วยเหลือ และนี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้เสียชีวิตพุ่งสูง ขณะที่ทางการกล่าวโทษคนกลุ่มนี้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเต็นท์ที่พักผู้เข้าพักเกินความจุ

“เราสงสัยว่า ผู้ที่ไม่ได้ถือวีซ่าพิธีฮัจญ์เหล่านี้แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่จัดพิธีฮัจญ์” นายมุสโตลีห์ ซีราดจ์ ประธานคณะกรรมการพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์แห่งชาติกล่าว

ขณะที่ นายซาอัด อัล-คูราชี ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ บอกกับบีบีซีว่า ใครก็ตามที่ไม่มีวีซ่าพิธีฮัจญ์จะไม่ได้รับการยกเว้น และต้องถูกส่งตัวกลับประเทศของตัวเอง เขาย้ำด้วยว่า ผู้แสวงบุญที่เข้ามาอย่างถูกต้องจะได้การ์ด ‘Nusuk’ ซึ่งจะมีบาร์โค้ดสำหรับใช้เข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทำให้สามารถจำแนกผู้แสวงบุญที่ลงทะเบียนกับไม่ลงทะเบียนได้

...

ผู้แสวงบุญเจ็บป่วย/อายุมาก

ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในพิธีฮัจญ์ทุกปีคือ ผู้แสวงบุญมีอายุมากและเจ็บป่วย เนื่องจากหลายคนตัดสินใจเดินทางมานครเมกกะในช่วงบั้นปลาย หลังจากเก็บเงินมาทั้งชีวิต

ชาวมุสลิมหลายคนยังเดินทางมาโดยหวังว่าหากพวกเขาเกิดเสียชีวิตระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ พวกเขาจะได้ถูกฝังร่างที่นครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ซึ่งถือเป็นพรใหญ่หลวง

ซาอุดีอาระเบียมีระเบียบในการดูแลศพผู้เสียชีวิตระหว่างพิธีฮัจญ์ พวกเขาจะใช้กำไลข้อมือ หรือสร้อยคอระบุตัวตน ซึ่งผู้ถือวีซ่าพิธีฮัจญ์จะได้รับในการระบุตัวตนผู้เสียชีวิต จากนั้นทางการจะทำการชันสูตรและออกใบมรณบัตร

ต่อมาพิธีศพจะถูกจัดขึ้นที่มัสยิดสำคัญอย่าง มัสยิด มาสจิด อัล-ฮาราม ในนครเมกกะ หรือมัสยิดอันนะบะวี (มัสยิดของท่านศาสดา) ในเมืองเมดินา ร่างกายของผู้ตายจะถูกชำระล้าง ห่อศพ และเก็บในตู้แช่เย็นเพื่อการขนส่ง โดยที่รัฐบาลซาอุฯ รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ส่วนการฝังศพนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการตั้งป้ายหลุมศพ บางครั้งศพมากมายจะถูกฝังรวมในที่เดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่จะทำบัญชีว่าใครถูกฝังไว้ที่ใด เพื่อให้ญาติสามารถมาเยี่ยมหลุมศพได้หากต้องการ.





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : bbc

...