เสร็จสิ้นกันไปเรียบร้อย สำหรับการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพยูเครน ที่เมืองลูเซิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนานาชาติส่งตัวแทนไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ผลสรุปที่ออกมาคงเรียกได้ว่า “ไม่งดงาม” เท่าไรนัก เพราะ ปรากฏว่าแถลงการณ์ร่วมฉบับสุดท้ายเพื่อแสดงจุดยืนของที่ประชุมเกิดการ “เสียงแตก” สมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย ตัดสินใจไม่ขอร่วมวงศ์ไพบูลย์ ทั้งมีประเทศอย่างจอร์แดน และอิรัก ที่ขอถอนตัวกลางอากาศ หลังจากมีการประกาศรายชื่อประเทศที่ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการไปแล้ว

แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญมันอยู่ที่ “รัสเซีย” คู่ขัดแย้งไม่ได้รับคำเชิญ ขณะที่ “จีน” ก็เลือกที่จะเมินเฉย เนื่องจากมองว่าฟังความข้างเดียว เออ-ออกันเอง จะก่อให้เกิดประโยชน์เช่นไร

ยิ่งไปกว่านั้น หากได้อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มที่ออกมา ย่อมเกิดอาการคุ้นๆว่า เหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อนรึเปล่า ใช่ข้อเสนอสันติภาพ 12 ประการที่จีนเคยร่างมาก่อนหรือไม่?

ย้อนกลับไปในวันที่ 24 ก.พ.2566 ซึ่งครบกำหนด 1 ปีเต็มสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทางรัฐบาลจีนได้เสนอหนทางสันติภาพไว้ว่า 1.การเคารพอธิปไตยของทุกประเทศและความเป็นปึกแผ่นของดินแดน ตามกฎบัตรสหประชาชาติ 2.การละทิ้งกรอบความคิดยุคสงครามเย็น ความมั่นคงของชาติหนึ่งไม่ควรไปส่งผลกระทบต่ออีกชาติหนึ่ง การสร้างความมั่นคงให้แก่ภูมิภาคใดๆไม่ควรมาจากการขยายอิทธิพลทางทหาร

3.การยุติความเป็นศัตรูต่อกัน เพราะความขัดแย้งและสงครามไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ใคร ควรใช้ความอดทนอดกลั้นและคุยกันด้วยเหตุผล หลีกเลี่ยงการปลุกปั่นโหมเชื้อไฟและการยั่วยุให้เกิดความตึงเครียด 4.การกลับสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพ ซึ่งถือเป็นหนทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง

...

5.พยายามคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางด้านมนุษยธรรม ยึดถือการคุ้มครองพลเรือนเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติในเรื่องการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ความขัดแย้ง 6.การให้ความคุ้มครองพลเรือนและเชลยสงคราม โดยยึดตามหลักมนุษยธรรมสากล

7.การให้ความคุ้มครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และขอให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เข้ามามีบทบาทส่งเสริมในเรื่องความปลอดภัย 8.ลดความเสี่ยงในเชิงยุทธศาสตร์ จะต้องไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด และการข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์จำเป็นต้องถูกต่อต้าน

9.การอำนวยความสะดวกเรื่องการส่งออก ข้าวในพื้นที่ทะเลดำ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านอาหารโลก 10.ยุติการใช้มาตรการคว่ำบาตรเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นเรื่อยๆ 11.การรักษาเสถียรภาพทางอุตสาหกรรมและห่วงโซ่สินค้า ตามด้วยข้อสุดท้าย ส่งเสริมการฟื้นฟูหลังสงคราม

แล้วทีนี้ลองข้ามมาดู “แถลงการณ์ร่วม” ของที่ประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพยูเครน ฉบับวันที่ 16 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมากันบ้าง เขียนไว้ว่า 1.จะต้องมีการคุ้มครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย ภายใต้หลักการของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และการข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

2.ความมั่นคงทางอาหารโลก ขึ้นอยู่กับห่วงโซ่สินค้าและอุตสาหกรรมการผลิต สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่ได้รับผลกระทบ เส้นทางการค้าในทะเลดำ และทะเลอาซอฟจะต้องได้รับการคุ้มครอง การโจมตีเรือสินค้า ท่าเรือตลอดเส้นทางดังกล่าว ไปจนถึงการโจมตีต่อท่าเรือพลเรือน และโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือพลเรือนถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ความมั่นคงทางอาหารโลกจะต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธ

จบด้วยข้อ 3.เชลยสงครามจะต้องได้รับการแลกเปลี่ยนปล่อยตัว เด็กชาวยูเครนและพลเรือนชาวยูเครนที่ถูกโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมไปยังรัสเซีย จะต้องได้รับการส่งกลับมายังยูเครนตามเดิม สุดท้ายนี้ที่ประชุมเชื่อว่า หนทางสู่สันติภาพจำเป็นต้องมีทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้เราจึงตัดสินใจที่จะดำเนินการอย่างหนักแน่นตามหัวข้อที่กล่าวมา เพื่อให้ตัวแทนประเทศกลับมาหารือกันอีกในอนาคต อีกทั้งจะใช้กฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยการเคารพอธิปไตยและความเป็นปึกแผ่นของดินแดน เป็นพื้นฐานในการบรรลุเป้าหมายสร้างสันติภาพในยูเครนที่ยั่งยืน

ลองมาลากเส้นเชื่อมโยงกันดู ก็จะเห็นว่า ข้อ 1 ของแถลงร่วมจะตรงกับข้อ 7 และข้อ 8 ของจีน ขณะที่ข้อ 2 ของแถลงร่วมจะตรงกับข้อ 9 และข้อ 11 ของจีน ส่วนข้อ 3 ของแถลงร่วมจะตรงกับข้อ 6 และข้อ 1 ของจีน สรุปแล้ว คือเอาของจีนมาทั้งหมด 6 ข้อ แล้วตัดส่วนที่สำคัญๆออกให้หมด

ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องให้ “ยุติความ เป็นศัตรูต่อกัน” ข้อเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งหวนคืนสู่โต๊ะเจรจา ข้อเรียกร้องให้ละทิ้งกรอบความคิดยุคสงครามเย็น ข้อเรียกร้องให้คลี่คลายวิกฤตการณ์ ด้านมนุษยธรรม ข้อเรียกร้องให้ยุติการใช้มาตรการ คว่ำบาตรเพียงฝ่ายเดียว และข้อเรียกร้อง ให้ช่วยกันฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม...สิ่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับ “สันติภาพของยูเครน

สุดท้ายแล้วมันก็จริงอย่างที่ผู้นำยุโรปชาติหนึ่งเคยพูดไว้ก่อนวันงานว่า จะเป็นการประชุม “สันติภาพ” ที่จะไม่มีการพูดถึง “สันติภาพ” จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่การประชุมดังกล่าวจะมีหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วย อีกทั้งยังส่อเค้าจะไม่มีการนัดคุยอีกเป็นรอบที่ 2 เพราะการประชุมได้จบลงโดยที่ไม่มีประเทศใดสนใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ครั้งหน้าแม้แต่รายเดียว.

...

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7วันรอบโลก” เพิ่มเติม