แม้แต่มหาอำนาจใหญ่ๆยังต้านทานไม่อยู่ นับประสาอะไรกับประเทศเล็กๆอย่างไทยแลนด์ ทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกยังโงหัวไม่ขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ เพราะหมดฤทธิ์ยากระตุ้นจากการเปิดประเทศและอัดฉีดเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 แถมยังโดนรุมเร้าด้วยสารพัดปัจจัยลบ ไล่ตั้งแต่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน, ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในยุโรป, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง, การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมไปถึงภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เรียกว่าหันไปทางไหนก็มีแต่ข่าวร้ายเต็มไปหมด

ในขณะที่รายงานผลสำรวจ “Voice of the Consumer Survey 2024” ของ PWC ศึกษาความคิดเห็นของผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 20,000 ราย ใน 31 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย สะท้อนว่าผู้บริโภคเกือบทั้งโลกกำลังขาดความเชื่อมั่นอย่างแรง และไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอยเหมือนเคย โจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคต้องเร่งหาคำตอบเพื่อความอยู่รอดคือ ทำยังไงถึงจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับคืนมา เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้

เมื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ” จากการสำรวจของ PWC พบว่า ผู้บริโภคมากถึง 85% เคยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงต้องการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่เกือบ 50% ต้อง การใช้สินค้ารักษ์โลกมากขึ้น และพร้อมจ่ายแพงขึ้นจากราคาปกติ 9.7% สำหรับสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการก็คือ การสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการจับจ่ายของผู้บริโภคกับต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสมสำหรับสินค้ารักษ์โลก

...

เมื่อมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในสินค้าและบริการเสริมสุขภาพ ตลอดจนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน” ผู้บริโภคยุคใหม่มีความใส่ใจต่อสุขภาพและโภชนาการมากขึ้น โดยต้องการบริโภคผักผลไม้สด, ลดการบริโภคเนื้อแดง และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอาหารที่รับประทานมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าวถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน พร้อมขยายธุรกิจใหม่ๆ ไปยังตลาดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากขึ้น

ใช้โซเชียลมีเดียทำการตลาดอย่างมีชั้นเชิง” จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคเกือบครึ่งใช้โซเชียลมีเดียในการจับจ่าย สินค้าและเป็นแหล่งหาข้อมูลสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ก็กังวลเรื่องความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ฉะนั้นผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างเนื้อหาน่าสนใจและน่าเชื่อถือ พร้อมจัดการกับความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค

สร้างประสบการณ์ที่คุ้มค่าให้กับลูกค้า” พร้อมจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดราคาที่ให้ความคุ้มค่า ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ตัดสินว่าบริษัทนั้นๆจะได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคหรือไม่ โดย 40% ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า พร้อมที่จะพิจารณาเปลี่ยนไปใช้สินค้าแบรนด์อื่นที่มีราคาเหมาะสมและคุ้มค่ากว่า

ประยุกต์ใช้ AI ให้ทำงานร่วมกับมนุษย์” ผู้ถูกสำรวจเกินครึ่งชี้ว่า รู้สึกไว้วางใจให้ AI แนะนำข้อมูลสินค้าและบริการทั่วไป แต่ยังไม่มั่นใจใช้บริการที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น คำแนะนำด้านการเงินและการแพทย์ ฉะนั้นผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องรู้จักผสมผสานการใช้งาน AI เข้ากับการทำงานของพนักงานที่เป็นมนุษย์ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและเฉพาะเจาะจงให้ผู้บริโภค...บอกเลยว่าผู้บริโภคยุคใหม่ฉลาดเป็นกรดและช่างเลือกจริงๆ.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม