ทำไม ดิน หิน หรือแม้แต่ อากาศ บน “ดาวอังคาร” จึงสำคัญ จนมนุษย์ต้องส่งยานอวกาศไปสำรวจ ลงจอดเพื่อเก็บสิ่งเหล่านี้กลับมาโลก นั่นก็เพราะนี่อาจเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ โดยร่องรอยของจุลินทรีย์โบราณอาจถูกรักษาอยู่ในแร่ที่ผสมปนเปกับดินและดินบนดาวเพื่อนบ้านของเรา

ตอนนี้ความพยายามดังกล่าวก็เดินไปถึงครึ่งทางความฝันแล้ว หลังจากยานโรเวอร์ “เพอร์เซเวียแรนซ์” ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ลงจอดในหลุมอุกกาบาตเจเซโร บนดาวอังคารในปี 2564 ได้รวบรวมตัวอย่างดินและหินจากพื้นเจเซโร ภารกิจนี้ชื่อว่า มาร์ส แซมเพิล รีเทิร์น (Mars Sample Return-MSR) ที่องค์การนาซาร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรป ขณะอีกครึ่งทางฝันที่เหลือก็คือการนำ “ตัวอย่าง” พวกนี้กลับมาโลกภายในปี 2573

ทว่าหนทางกลับโลกของ “มาร์ส แซมเพิล รีเทิร์น” กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติด้านงบประมาณ ซึ่งการอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ปี 2567 จากสภาคองเกรสเมื่อต้นปี มีรายงานว่าองค์การนาซาได้งบน้อยกว่าที่เคยได้ในปี 2566 โดยงบประมาณปี 2567 ขององค์การนาซาอยู่ที่ 24,875 ล้านดอลลาร์หรือเกือบ 917,000 ล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และน้อยกว่างบประมาณ ที่ขอไป 8.5%

ด้วยเหตุนี้ องค์การนาซาจึงประกาศว่ากำลังมองหา “ข้อเสนอ” อื่นๆ จากพันธมิตรทางธุรกิจ โดยได้เลือกบริษัทด้านการบินและอวกาศ 7 แห่งให้พัฒนาแนวคิดในการส่งคืน “ตัวอย่าง” จากดาวอังคารกลับโลก โดยตั้งกรอบการทำงานว่าต้องใช้เวลาดำเนินการให้เร็วขึ้น มีความเสี่ยงน้อยลง และด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่ง 5 ใน 7 ของพันธมิตร ก็ไม่ใช่ใครที่แปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ล็อกฮีท มาร์ติน, สเปซเอกซ์, แอโรเจ็ต ร็อกเก็ตไดน์, บลู ออริจิน และนอร์ทรอป กรัมแมน ส่วนอีก 2 บริษัทเป็นผู้เล่นหน้าใหม่คือ ควอนตัม สเปซ และ วิทติงฮิลล์ แอโรสเปซ ซึ่งมีการมอบค่าตอบแทนมูลค่า รวม 10 ล้านดอลลาร์หรือราว 370 ล้านบาทให้กับบริษัทเหล่านี้สำหรับการพัฒนาแนวคิด

...

การลดงบประมาณยังพ่นความกังวลถึงโครงการที่จะส่งลูกเรือมนุษย์ไปดาวอังคาร เกรงกันว่าภารกิจนี้จะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเร็วที่สุดคือภายในปี 2583 ขณะที่โครงการ อาร์ทีมิส (Artemis) ขององค์การนาซา ที่มีเป้าหมายส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในทศวรรษหน้า กลับได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2567

นักวิเคราะห์นโยบายอวกาศของเว็บไซต์ สเปซ โพลิซี ออนไลน์ วิเคราะห์ว่ามีกลุ่มพันธมิตรในสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าโครงการอาร์ทีมิส มีความสำคัญต่อการก้าวนำหน้าจีน ซึ่งก้าวมาเป็นคู่แข่งสำคัญ และองค์การอวกาศแดนมังกร ก็มีเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เช่นกัน!

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม