หลายประเทศรวมถึงไทย ไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอดสันติภาพยูเครน ที่จัดขึ้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลายประเทศมหาอำนาจสำคัญ รวมถึง บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ และซาอุดีอาระเบีย ไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสันติภาพยูเครน ซึ่งประเทศและองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 80 ประเทศ ให้การรับรองบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวหลังสิ้นสุดการประชุมสุดยอด 2 วัน ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยกล่าวยินดีกับ "ก้าวแรกสู่สันติภาพ" แต่ก็ยอมรับว่ามีผู้ลงนามไม่ครบทุกประเทศ พร้อมเสริมว่า รัสเซียกำลังพยายามแบ่งแยกโลก เขากล่าวว่า แถลงการณ์ฉบับสุดท้ายยังคงเปิดให้ทุกคนที่เคารพกฎบัตรสหประชาชาติสามารถเข้าถึงได้

ประเทศเกือบ 100 ประเทศ เข้าร่วมในการประชุมที่เมืองเบอร์เกนสต็อค แต่รัสเซียไม่ได้รับเชิญ และจีนปฏิเสธการประชุมดังกล่าว นักการทูตตะวันตกแย้งว่า ความสำคัญส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่ผู้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรป สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ แต่รวมถึงประเทศจากละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียด้วย

เซเลนสกี กล่าวว่า ฝ่ายต่างๆ ได้ตกลงที่จะทำงานในกลุ่มพิเศษเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ซึ่งเขากล่าวว่า จะเป็นการเปิดทางสู่การประชุมสุดยอดสันติภาพครั้งที่สอง

ข้อความสุดท้ายในแถลงการณ์ได้รับการลงนามโดยประเทศและองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 80 ประเทศ รวมถึง สถาบันหลัก 3 แห่งของสหภาพยุโรป และรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ แถลงการณ์ระบุว่า กฎบัตรสหประชาชาติ รวมถึงบูรณภาพแห่งดินแดน และอธิปไตยของทุกรัฐ สามารถและจะเป็นพื้นฐานในการบรรลุสันติภาพที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืนในยูเครน

นอกจากนี้ ประเทศตุรกี ซึ่งรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดกับรัสเซีย และพยายามที่จะเป็นผู้สร้างสันติภาพ ยังได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวเช่นเดียวกับอาร์เจนตินา อิรัก กาตาร์ และรวันดา

...

อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย แอฟริกาใต้ ไทย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่แม้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดดังกล่าว แต่ไม่ได้ลงนามในแถลงการณ์ขั้นสุดท้าย ขณะที่บราซิลซึ่งเข้าร่วมประชุมในสถานะผู้สังเกตการณ์ ไม่ได้ลงนามรับรองแถลงการณ์เช่นกัน

อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะบรรลุสันติภาพในยูเครน "การประชุมสุดยอดที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ใช่การเจรจาสันติภาพ เพราะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ได้จริงจังกับการยุติสงคราม เขายืนกรานที่จะยึดดินแดนของยูเครน แม้กระทั่งดินแดนที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกยึดครอง"

ก่อนการประชุม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เรียกร้องให้ยูเครนถอนทหารออกจากภูมิภาคทางตะวันออกของประเทศ 4 แห่งที่ทหารรัสเซียยึดครองบางส่วน ปูตินยังเรียกร้องให้ยูเครนละทิ้งแผนการเข้าร่วมองค์การนาโต 

ขณะที่จีนตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด แม้ยูเครนจะเชิญก็ตาม เมื่อถามถึงจุดยืนของรัฐบาลจีนในเรื่องสงคราม เซเลนสกี กล่าวว่า จีนเป็นรัฐที่ค่อนข้างจริงจัง ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อรัสเซีย จีนมีอิทธิพลอย่างแท้จริงและเขาเชื่อว่าจีนสามารถช่วยยูเครนได้ และกล่าวเสริมว่า เขาอยากให้จีนเป็นเพื่อนกับยูเครน

ผู้ลงนามในแถลงการณ์ระบุว่า การคุกคาม หรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้น "เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้" หลังจากที่ปูตินใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีหลายครั้ง เช่นเดียวกับการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ซึ่งถูกรัสเซียยึดได้ในช่วงต้นของสงคราม และเรียกร้องให้ยุติการโจมตีท่าเรือพลเรือนของยูเครนและเรือสินค้า โดยกล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหาร "จะต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง" และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเชลยสงครามทั้งหมด รวมถึงพลเรือนชาวยูเครนที่ถูกคุมขังอย่างผิดกฎหมาย และเด็ก

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายบางส่วนของการประชุมสุดยอดดังกล่าว ไม่มีการถกเถียงกันว่า ข้อตกลงหลังสงครามจะเป็นอย่างไร หรือความหวังของยูเครนในการเข้าร่วมนาโต ด้านประธานาธิบดีวิโอลา แอมเฮิร์ด ผู้นำสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ขั้นสุดท้าย "แสดงให้เห็นว่าการทูตสามารถบรรลุผลอะไรได้บ้าง".

ที่มา The Guardian

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign