ค.ศ.1997 อาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย เดินทางไปเก็บข้อมูลที่พม่าเพื่อทำวิทยานิพนธ์ การไปในครั้งนั้นได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนในสถานทูตรัสเซียประจำกรุงย่างกุ้ง รวมทั้งข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ซึ่งจำนวนไม่น้อยจบจากสหภาพโซเวียต ยังแปลกใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับโซเวียตในสมัยนั้นลึกมากอย่างที่เรานึกไม่ถึง แม้แต่ผู้ดูแลอาจารย์นิติภูมิธณัฐที่สหภาพโซเวียตคือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อันนา กาฟริโลวา (Anna Georgievna Gavrilova) แห่งสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยมอสโก ท่านก็ยังใช้ภาษาพม่าได้ดีเหมือนคนพม่า ในช่วงปลายท้ายชีวิตของท่าน แม้ว่าจะมองไม่ค่อยเห็น ท่านก็ยังขอทางมหาวิทยาลัยมาใช้ชีวิตอยู่ในพม่าเป็นระยะ โดยบินมาลงที่ดอนเมือง พักกับครอบครัวของผมที่กรุงเทพฯ และที่จันทบุรี ก่อนจะบินต่อไปอยู่ในพม่า

ค.ศ.2001 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีกลาโหมและคณะไปพบกับพลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำสูงสุดของพม่าในขณะนั้น พลเอกชวลิตชวนอาจารย์นิติภูมิธณัฐและ ดร.วริศรา เกษมศรี ไปพบกับพลเอกอาวุโสตานฉ่วยที่บ้านของท่านด้วย เราแปลกใจมากที่นายทหารระดับพันตรีของพม่าในสมัยนั้นจำนวนไม่น้อยสำเร็จการศึกษาจากกรุงมอสโก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ค่อยเปิดเผยในวงการข่าวระหว่างประเทศ

ค.ศ.2009 อาจารย์นิติภูมิธณัฐเป็นคณะชาวต่างประเทศคณะแรกที่นั่งรถจากนครย่างกุ้งไปยังกรุงเนปยีดอว์ และมีโอกาสไปพูดที่หอการค้าทวาย หลังจากนั้นก็มีโอกาสไปเยือนเมืองต่างๆหลายครั้ง อย่างหนึ่งซึ่งพบก็คือ ตามเมืองของพม่ามีหน่วยงาน ความช่วยเหลือและหน่วยงานวิจัยของต่างประเทศไปลงหลักปักฐานอย่างเงียบเชียบโดยที่ไม่เป็นข่าวแพร่งพรายไปสู่โลกภายนอก

ค.ศ.2020 คณะของเราเดินทางไปที่ปูตาโอ เมืองทางเหนือสุดของรัฐกะชีน พม่า และเป็นเมืองหลักของจังหวัดและอำเภอปูตาโอ ก็ยังพบสถานีและศูนย์วิจัยของเกาหลีใต้ รวมทั้งมีหน่วยงานของอีกหลายชาติเข้าไปสำรวจและเก็บข้อมูลอย่างลับๆ สังเกตอย่างหนึ่งว่า ถ้าเป็นหน่วยงานของจีนก็จะโฉ่งฉ่าง แต่ถ้าเป็นหน่วยงานของรัสเซียและเกาหลีใต้ ก็จะอยู่อย่างซ่อนตัว ถ้าไม่มีคอนเนกชันก็จะไม่มีทางทราบว่าพวกนี้เป็นคนกลุ่มไหน มาจากประเทศใดอย่างแน่นอน

...

รัสเซียสนใจที่จะมาลงทุนในท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวายของพม่า รวมทั้งสนใจจะตั้งโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ในพม่าด้วย สถานการณ์ของรัสเซียในปัจจุบันอยู่ในสถานะโลกกว้างทางแคบ ถูกสหรัฐฯและพวกปิดล้อมในหลายพื้นที่ จนรัสเซียมีทางให้เดินเพียงไม่กี่แห่ง สถานที่หนึ่งซึ่งรัสเซียปูพื้นฐานไว้นานมาก ทั้งด้านองค์ความรู้และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือพม่า

เดิมรัสเซียสนใจเวียดนาม ปูพื้นฐานของตนเองในเวียดนามเอาไว้มาก ทั้งด้านการค้าการลงทุน การทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ในระยะหลังที่รัสเซียหันไปสนิทกับจีน เวียดนามก็หันไปสนิทสนมกับสหรัฐฯ ในอนาคตเราไม่รู้ดอกครับว่า หากเกิดสงครามร้อนและสงครามเย็นขึ้นมาจริงๆ เวียดนามจะไปอยู่ข้างใคร

ถ้าจะว่ากันไปแล้ว รัสเซียและจีนค่อนข้างจะขาลอยในกลุ่มประเทศอาเซียน กัมพูชาเองก็มีผู้นำประเทศคนปัจจุบันที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารอันดับ 1 ของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็ต้อนรับขับสู้รัฐมนตรีกลาโหมจากสหรัฐฯ มีการทำนายทายทักว่าอิทธิพลสหรัฐฯอาจจะเพิ่มมากขึ้นในกัมพูชา ส่วนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ ก็ยังไม่มีทีท่าแน่ชัดว่าจะกระโจนอยู่กับซีกไหนหากมีความจำเป็นต้องแบ่งฝ่าย

ในโลกเราใบนี้มีเพียง 2 ประเทศที่มีประชากรเกิน 1 พันล้านคน และเป็น 2 ประเทศที่มีโอกาสที่จะพุ่งขึ้นไปเป็นอภิมหาอำนาจและมหาอำนาจโลก นั่นคือจีนกับอินเดีย พม่ามีพรมแดนที่ติดกับทั้งจีนและอินเดีย แน่นอนว่าสหรัฐฯคงไม่ปล่อยให้พม่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพล ของรัสเซียและจีนเป็นแน่ ปัจจุบันเราจึงเห็นคลิปที่ทหารรับจ้างจากชาติตะวันตกเข้ามาช่วยกลุ่มชาติพันธุ์รบกับรัฐบาลทหารพม่า

การจะเข้ามาลงทุนของรัสเซียในพม่าครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม