• ภูฏาน ตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 300,000 คนต่อปี โดยหวังว่านักท่องเที่ยวจะลบความเชื่อที่ว่าการมาท่องเที่ยวภูฏานเป็นเรื่องยากและต้องใช้เงินจำนวนมาก
  • ล่าสุดรัฐบาลภูฏานกำลังเดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหวังกระจายนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ของภูฏานได้สะดวกมากขึ้น
  • แม้ว่าภูฏานจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในภูฏานมากขึ้น แต่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นไปตามจำนวนที่ควบคุมยังเป็นสิ่งสำคัญเพื่อปกป้องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเอาไว้ให้ดีดังเดิม

ประเทศภูฏาน เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างใส่ไว้ในรายชื่อที่อยากจะลองไปท่องเที่ยวครั้งหนึ่งในชีวิต แต่มักจะไม่ได้ไปเที่ยวตามที่ตั้งใจไว้ เนื่องจากมีความเชื่อว่าการเดินทางเข้าภูฏานเป็นเรื่องยาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาแพง

ล่าสุดทางการท่องเที่ยวภูฏานได้เตรียมพร้อมที่จะขยายการท่องเที่ยวในภูฏานให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวในภูฏานในจำนวนที่มากขึ้น แม้ว่าจะยังคงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิน 300,000 คนต่อปี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมของภูฏานก็ตาม

นายเชอริ่ง ต็อบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน ระบุว่า คนจำนวนมากมักจะมีความเชื่อผิดๆ ว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูฏานเป็นเรื่องยากและยังต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงด้วย ซึ่งนั่นทำร้ายการท่องเที่ยวของภูฏานเป็นอย่างมาก “นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่ต้องการจะมาเที่ยวที่ภูฏานมักจะตั้งเป้าว่าจะมาเที่ยวให้ได้สักครั้ง แต่ก็ไม่เคยเดินทางมาจริงๆ เพราะดูแนวโน้มว่าจะเดินทางไปยากลำบาก และใช้งบเยอะเกินไป” อย่างไรก็ตามในอีกแง่หนึ่งเขายอมรับว่าความเชื่อเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน เพราะเมื่อพวกเขาได้มายังภูฏานจริงๆ การที่ได้หายใจเอาอากาศของที่นี่เข้าไป ได้ลิ้มรสชาติของน้ำ ได้พบปะผู้คนชาวภูฏาน ทำความรู้จักภูฏานอย่างแท้จริง พวกเขามักจะรู้สึกพึงพอใจเป็นอย่างมาก

...

เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ภูฏานกำลังเดินหน้าพัฒนาหลายด้านเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยกำลังพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติม และเพิ่มเส้นทางในการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้สะดวกมากขึ้น เช่น การจัดหาเฮลิคอปเตอร์เพิ่มขึ้น การขยายถนน และจะมีการสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ที่เขตบริหารพิเศษเกเลพู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภูฏาน ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลา 2 ปีหลังจากนี้

นายดันโช รินซิน หัวหน้าเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของภูฏาน ระบุว่า ภูฏานกำลังมองหาช่องทางเข้าประเทศเพิ่มเติมอีก 1-2 แห่งจากทางตะวันออกของภูฏาน เพื่อที่จะให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางเข้าภูฏานได้เพียงช่องทางเดียวคือการบินมายังสนามบินนานาชาติพาโรทางตะวันตกของประเทศซึ่งอยู่ท่ามกลางหุบเขา และอยู่ห่างจากกรุงทิมพู เมืองหลวงของประเทศกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงก็จะต้องขับรถต่อไปอีกไกล หรือไม่ก็ต้องขึ้นเครื่องบินในประเทศ หรือใช้บริการเฮลิคอปเตอร์เพื่อจะไปเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ของภูฏานได้

ดังนั้นหากต้องการที่จะกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ทางตะวันออก ตอนกลาง หรือทางตอนใต้ของประเทศ ก็จำเป็นจะต้องนำเอารถไฟท้องถิ่นมาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งต้องเพิ่มโฮมสเตย์ให้บริการนักท่องเที่ยว หรืออาจจะมีการให้บริการแพข้ามแม่น้ำ โดยทางการภูฏานมีการทำความเข้าใจกับประชาชนชาวภูฏานอยู่เสมอว่าพวกเขาเป็นหุ้นส่วนของประเทศในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะลงเรือลำเดียวกันแล้ว

ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 300,000 คนต่อปี

ภูฏานตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้สูงสุด 300,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่ทางการได้ตั้งเอาไว้ เพื่อให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาจะไม่กระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายเชอริ่ง ต็อบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน ระบุว่า นโยบายหลักของภูฏานคือ "มูลค่าสูง แต่จำนวนต่ำ" เพราะประเมินแล้วว่าภูฏานไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้เกินกว่า 300,000 คนต่อปี เพราะถ้าหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกินจำนวน จะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพราะนักท่องเที่ยวต้องการจะทำลายมัน แต่เป็นเพราะจำนวนคนที่มากเกินไปที่จะกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว วัฒนธรรมของภูฏานก็เสี่ยงที่จะถูกทำลาย ไม่ใช่เพราะนักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาทำลาย แต่เป็นเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป

...

โดยเมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในภูฏานเกือบ 100,000 คน ซึ่งนับเป็นจำนวนเพียง 1 ใน 3 จากยอดสูงสุดที่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในปี 2019 ถึง 350,000 คน

ความหลากหลายและการพัฒนาอุตสาหกรรม

นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ ยกเว้นอินเดีย บังกลาเทศ และมัลดีฟส์ จำเป็นที่จะต้องมีการขอวีซ่าล่วงหน้าก่อนจะเดินทางมายังภูฏาน

โดยปัจจุบัน ภูฏานมีการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวผู้ใหญ่สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนวันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือราว 3,700 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่เก็บอยู่ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน ขณะที่เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี จะถูกเก็บค่าธรรมเนียม 50 ดอลลาร์ต่อคนต่อวันหรือราว 1,840 บาท มีผลตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2023 ที่ผ่านมา เพื่อหวังจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น และแม้ว่านักท่องเที่ยวจากอินเดียยังเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ใหญ่ที่สุดในตลาดการท่องเที่ยวของภูฏาน โดยคิดเป็นร้อยละ 73 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2019 แต่ทางการภูฏานก็หวังว่าจะจะเปิดตลาดการท่องเที่ยวให้หลากหลายขึ้น โดยอาจจะมีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขึ้นอีกหากการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวและมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังภูฏานเพิ่มขึ้นแล้ว

...

คาริสสา นิมาห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดของหน่วยงานการท่องเที่ยวภูฏาน ระบุว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังเนปาลมีแนวโน้มเปลี่ยนไป โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะอยู่เที่ยวนานขึ้น ถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานและบริการเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว อย่างเช่น การให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพอาหารที่ดีขึ้น และการให้บริการที่เพิ่มความประทับใจ

การจ้างมัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาตนำเที่ยวอย่างถูกกฎหมายก็เป็นข้อบังคับของการมาท่องเที่ยวในภูฏาน ดังนั้นบางคนอาจจะคิดว่าบริษัททัวร์จะมีอำนาจเต็มในการเลือกที่พัก หรือร้านอาหารได้ตามใจ แต่ในความเป็นจริงตอนนี้บริษัททัวร์ก็ต้องเลือกที่พักและอาหารตามใจลูกค้า เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นยิ่งทำให้บริษัทต้องแย่งชิงลูกค้าด้วยการเสนอความพึงพอใจอย่างสูงสุด อย่างไรก็ตามจากการประเมินค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ในการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวที่ภูฏาน ทั้งค่าธรรมเนียมต่อวัน ค่าไกด์ทัวร์ ค่าที่พัก (ในระดับ 3 ดาว) ค่าอาหาร ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยวิธีต่างๆ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวควรจะต้องมีงบประมาณไม่ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อคน หากจะมาเที่ยวในระยะเวลาราว 4-5 วัน

นายเชอริ่ง ต็อบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการผลักดันการท่องเที่ยวของประเทศ แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องกระจายเศรษฐกิจตั้งแต่การท่องเที่ยวไปจนถึงภาคการบริการทางการเงินและภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภูฏานเป็นแนวหน้าที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอันดับต้นๆ

นอกจากนี้ประเทศภูฏานยังต้องมองหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เพิ่มเติมจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพราะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน.

...


ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : channelnewsasiaCNBC