กลายเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับครอบครัวชาวอิสราเอล หลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชุดปฏิบัติการพิเศษกองทัพยิวได้ประสบความสำเร็จในการชิงตัวประกันออกมาจาก “ฉนวนกาซา

โดยทั้ง 4 คน คือ นายชโลมี ซิฟ วัย 41 ปี นายอันเดร คอสลอฟ วัย 27 ปี นายอัลมอก ยัน วัย 21 ปี และ น.ส.โนอา อาร์กามานี วัย 26 ปี ซึ่งกลายเป็นภาพข่าวที่น่าปลื้มปีติ สมาชิกครอบครัวต่างโผเข้าสวมกอดกันด้วยน้ำตาแห่งความยินดี ท่ามกลางรอยยิ้มของเจ้าหน้าที่การแพทย์และเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นจริงที่น่าวิตกกังวลด้วยเช่นกัน เนื่องจากนับตั้งแต่เหตุโศกนาฏกรรมวันที่ 7 ต.ค.2566 ผ่านมาจนปัจจุบัน คิดเป็นเวลากว่า 8 เดือน ได้มีตัวประกันถูกช่วยเหลือออกมาจากฉนวนกาซาด้วยกระบวนการทางความมั่นคง เป็นจำนวนเพียง 7 คน

ยังคงเหลือตัวประกันที่อยู่ภายใต้เงื้อมมือของกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสและกลุ่มแนวร่วมอีก 60 คน ในจำนวนนี้รวมคนไทยอีก 6 ชีวิตที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่ายังอยู่ในฉนวนกาซาหรือถูกเคลื่อนย้ายออกจากพื้นไปคุมขังอยู่ในดินแดนอื่นๆ

...

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลได้มีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการข่าวกรอง “ฟิวชั่น เซลล์” ร่วมกับหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯและอังกฤษ เพื่อค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป

โดยระยะแรกนั้นหน่วยข่าวกรอง 3 ฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่า ตัวประกันน่าจะถูกกลุ่มฮามาสพาตัวไปกักขังในเครือข่ายอุโมงค์อันสลับซับซ้อนใต้เมืองต่างๆในฉนวนกาซา จึงมีการนำ “อาวุธลับ” มาใช้งานนั่นคือระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวใต้ดิน ดำเนินการ สแกนพื้นที่ต่างๆที่มีความน่าจะเป็นสูง พร้อมประสานงานด้วยสายตาจากฟากฟ้า ฝูงโดรน MQ-9 รีพเปอร์ของกองทัพอเมริกัน สอดส่องความเคลื่อนไหวตามถนนหนทาง

กระนั้น เมื่อสงครามดำเนินผ่านไปหลายเดือน การสอบสวนนักรบฮามาสที่ถูกจับกุมตัว รวมถึงเอกสารที่ยึดมาได้จากรังกบดานต่างๆของกลุ่มฮามาสได้ ทำให้พบว่าสมมุติฐานในขั้นแรกได้ผิดพลาดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะงานนี้ปรากฏว่า ตัวประกันส่วนใหญ่ที่ถูกจับไปในฉนวนกาซา ได้ถูกส่งกระจัดกระจายไปอยู่ตามอาคารบ้านเรือนของประชาชนชาวปาเลสไตน์ในเมือง ต่างๆที่ได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มฮามาสนั่นเอง

สอดคล้องกับข้อมูลของสื่อมวลชนที่ไปสัมภาษณ์ตัวประกันที่ได้รับการช่วยเหลือออกมา เล่าว่าไม่ได้ถูกขังในบ้านของเหล่านักรบ แต่อยู่อาศัยร่วมกับชาวบ้านธรรมดาๆทั่วไป มีผู้คุมคอยจับตาป้องกันการหลบหนี ที่สำคัญก็ไม่ได้ถูกขังอยู่แต่ในบ้าน เวลาออกไปข้างนอกก็จะจับใส่ผ้าคลุมปิดหน้าให้เหมือนกับผู้หญิง และแน่นอนว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากใครได้ ขนาดผู้สื่อข่าวท้องถิ่นก็ยังปล่อยให้กลุ่มฮามาสใช้บ้านเป็นที่ควบคุมตัวประกัน

เป็นที่มาของกลยุทธ์ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ใช้การแกะรอยแบบเก่าที่อังกฤษมีความเชี่ยวชาญ ลงพื้นที่หาข่าว แล้วนำมาปะติดปะต่อเหมือนการต่อ “จิ๊กซอว์” พร้อมใช้แนวคิดแบบนายพราน อ่านรูปแบบพฤติกรรมของกลุ่มฮามาส ว่าจะมีแนวโน้มเช่นไรในเรื่องการขนย้ายตัวประกัน

แหล่งข่าวในหน่วยความมั่นคงอิสราเอลเปิดเผยว่า พอทราบเบาะแสเบื้องต้นว่าตัวประกันรายนั้นๆอยู่ในพื้นที่ ก็จะดำเนินการหาข่าวกรองเพิ่มเติมให้มากที่สุด จนมั่นใจในระดับหนึ่งว่า ตัวประกันถูกคุมขังอยู่ในละแวกนั้นจริงๆ พอถึงจุดนี้เราก็จะมาดูความเป็นไปได้เรื่องการวางแผนช่วยเหลือ แต่หลายต่อหลายครั้งที่ตัวประกันอยู่ในบริเวณที่เราไม่สามารถปฏิบัติการอะไรได้เลย

จริงอยู่ที่สถานการณ์ความขัดแย้งในช่วงนี้ ที่มีความรุนแรงอย่างหนัก ได้ทำให้หน่วยบัญชาการของกลุ่มฮามาสขาดการติดต่อระหว่างกัน ขนย้ายตัวประกันจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งน้อยลง และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีโอกาสเข้าช่วยเหลือเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่พบตามมาคือ ตัวประกันบางส่วนไม่ได้อยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มฮามาส แต่อยู่ในความควบคุมของกลุ่มพันธมิตร “ปาเลสไตน์ อิสลามิก จิฮัด” เป็นเหตุผลให้กลุ่มฮามาสบางส่วนมีความไม่มั่นใจว่าตัวประกันที่ยังอยู่ในฉนวนกาซามีจำนวนทั้งหมดกี่คน

อีกทั้งยังเชื่อเช่นกันว่า มีตัวประกันบางส่วน อยู่ในความดูแลของนายยะห์ยา ซินวาร์ แกนนำนักรบฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งข่าวกรองล่าสุดพบว่านายยะห์ยาเพิ่งย้ายแหล่งกบดานจาก “เมืองราฟาห์” ที่อยู่ติดพรมแดนอียิปต์ กลับไปยัง “เมืองข่านยูนิส” ทางภาคกลางของฉนวนกาซาที่เต็มไปด้วยเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน

...

แม้ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะถือเป็นความสำเร็จ ครั้งสำคัญของอิสราเอล แต่ทางอดีต เจ้าหน้าที่ข่าวกรองในรัฐบาลอิสราเอลก็มองด้วยว่า เหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็น “กรณีพิเศษ” เท่านั้น หากเปรียบเทียบก็เหมือนการได้ผลสำเร็จในเชิงกลยุทธ์ แต่ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อยุทธศาสตร์ชัยชนะในภาพรวม ที่ตัวประกันจำนวนมากยังอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มฮามาส และสุดท้ายแล้ว คำตอบของเรื่องนี้อาจหลีกหนีไม่พ้นกระบวนการ “เจรจาทางการทูต” ซึ่งแน่นอน ว่าย่อมรวมถึงการกล้ำกลืนฝืนทน พูดคุยกันในเรื่อง “หยุดยิงหย่าศึก”.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7วันรอบโลก” เพิ่มเติม