มีการวิจัยมานานหลายสิบปี เผยว่า “การบินในอวกาศ” อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น สูญเสียมวลกระดูก ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ สายตา ไต เพราะสิ่งที่มนุษย์ เช่น นักบินอวกาศที่ต้องปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลาหลายเดือนต้องเผชิญก็คือการได้รับรังสี อยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก อยู่ในที่จำกัด มีการแยกตัว เป็นต้น แต่ก็มีคำถามต่อไปว่าการเดินทางในอวกาศส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์แค่ไหน เมื่อเราไม่ได้ต้องการแค่ส่งมนุษย์ไปสำรวจวงโคจรรอบโลก หรือไปเหยียบดวงจันทร์ แต่ยังตั้งเป้าไปให้ถึงดาวอังคาร ซึ่งยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอวกาศที่กำลังเติบโต

ดังนั้น การทำความเข้าใจการตอบสนองทางสรีรวิทยาและจิตวิทยาของมนุษย์ต่อการบินในอวกาศจึงสำคัญอย่างยิ่ง และที่ผ่านมาก็มีนักวิจัยจากสถาบันมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก ได้กลั่นกรองข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นว่าร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในหลายๆด้านเมื่อไปถึงอวกาศ ทว่าส่วนใหญ่ร่างกายของพวกเขาจะกลับสู่ภาวะปกติภายในไม่กี่เดือนหลังจากกลับมายังโลก อย่างไรก็ตาม มนุษย์ที่มีโอกาสได้เดินทางไปในอวกาศก็มีไม่ถึง 700 คน นั่นหมายความว่าขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่วิจัยยังมีขนาดเล็กและยังมีข้อจำกัดอื่นๆ เช่น ความเต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลทั้งจากภาครัฐ หรือแม้แต่ตัวบุคคลเอง

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศูนย์เวชศาสตร์อวกาศของวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ ในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เผยแพร่เอกสารที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นภาพรวมที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการบินอวกาศ โดยอาศัยการศึกษาข้อมูลใหม่จาก 4 นักท่องเที่ยวชาว อเมริกันที่ยินดีเปิดเผยต่อสาธารณชน เกี่ยวกับสุขภาพของพวกเขาในภารกิจ “อินสปายเรชัน 4” (Inspiration4) เมื่อปี 2564 ที่พวกเขาเดินทางไปกับยานของบริษัทสเปซเอกซ์ โดยใช้เวลา 3 วันในวงโคจรต่ำของโลก

...

การวิจัยชี้ให้เห็นว่าเมื่อผู้คนอยู่ในอวกาศ จะมีการเปลี่ยนแปลงในเลือด หัวใจ ผิวหนัง โปรตีน ไต ยีน ไมโตคอนเดรีย (เป็นแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์), เทโลเมียร์ (ปลายสายของดีเอ็นเอ), ไซโตไคน์ (สารโปรตีนที่หลั่งจากเซลล์ต่างๆในระบบภูมิคุ้มกัน) และตัวชี้วัดด้านสุขภาพอื่นๆ แต่ราวๆ 95% ของตัวบ่งชี้สุขภาพจะกลับคืนสู่ระดับเดิมภายใน 3 เดือน

จึงเป็นไปได้ว่าเที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์ระยะสั้นอาจไม่ส่งผลกระทบใหญ่ต่อสุขภาพ แต่นักวิจัยยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อติดตามสุขภาพและการปฏิบัติงานในภารกิจอวกาศในอนาคต.

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม