ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์เผย ชาวเอเชียมีจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากที่สุดในโลก สาเหตุจากฝุ่นมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่รุนแรงมากขึ้นในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา
จำนวนของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในอากาศที่เพิ่มมากขึ้น กำลังเป็นปัญหาสะสมรุนแรง โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องเผชิญกับรูปแบบสภาพอากาศหลักๆ 3 แบบ จนส่งผลให้สถานการณ์มลพิษทางอากาศยิ่งเลวร้ายลง
โดยผลการศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์พบว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณ PM 2.5 ในอากาศในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนราว 135 ล้านคนทั่วโลก และยังพบว่า ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยมลพิษ PM 2.5 มากที่สุดในโลกในช่วงระหว่างปี 1980-2020
PM 2.5 เป็นมลพิษที่มักจะมากับหมอกควันข้ามแดน โดยมีอนุภาคซึ่งเล็กกว่าเส้นผมโดยเฉลี่ยประมาณ 30 เท่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนเมื่อสูดดมเข้าไป นอกจากนี้ฝุ่นมลพิษยังเกิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับแหล่งที่มาธรรมชาติอย่างเช่น ไฟป่า และพายุฝุ่นด้วย
ทีมนักวิจัยจาก NTU ยังระบุด้วยว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลทำให้ฝุ่น PM 2.5 เลวร้ายลงอีก เพราะจะเพิ่มความเข้มข้นของอนุภาคในอากาศให้เข้มข้นขึ้น
โดยการศึกษาครั้งนี้ ได้นิยามการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หมายถึงการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยพิจารณาจากอายุขัยเฉลี่ย ซึ่งการเสียชีวิตดังกล่าวมาจากสาเหตุที่ป้องกันหรือรักษาได้ เช่น โรคต่างๆ รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม.
ที่มา : channelnewsasia
...
คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ PM 2.5