ผลการศึกษาใหม่ชี้ว่า ช้างสามารถคิดค้นชื่อและเรียกขานกันและกันด้วยชื่อได้ รวมถึงสามารถรับรู้ได้ด้วยว่าคำเรียกนี้สื่อถึงตนเองหรือไม่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมวิจัยนานาชาติเผยแพร่ผลการศึกษาใหม่ในวันจันทร์ที่ 10 มิ.ย. 2567 โดยพวกเขาพบว่า ช้างป่าแอฟริกาเรียกช้างตัวอื่นด้วยชื่อที่พวกมันสร้างขึ้นเพื่อกันและกันโดยเฉพาะ ทำให้มันกลายเป็นสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ชนิดแรกที่ใช้ชื่อเรียกพวกเดียวกัน และไม่ได้ใช้การเลียนแบบเสียงแบบกรณีของโลมากับนกแก้ว

เพื่อการศึกษานี้ ทีมนักวิจัยจากนานาชาติได้ใช้อัลกอริทึมของเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ในการวิเคราะห์การเรียกขานกันของช้างป่าแอฟริกา 2 โขลงในทุ่งสะวันนาในประเทศเคนยา

นายไมเคิล ปาร์โด หัวหน้าผู้เขียนงานรายงานการวิจัย ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสาร ‘Nature Ecology & Evolution.’ ระบุว่า การศึกษานี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าช้างใช้เสียง หรือคำที่ผลิตด้วยเสียงสำหรับช้างแต่ละตัวแล้วยังพบด้วยว่าพวกมันรับรู้และมีปฏิกิริยาต่อเสียงที่เรียกตัวมัน และเมินเฉยต่อเสียงที่เรียกช้างตัวอื่น

สิ่งนี้บ่งชี้ว่าช้างสามารถระบุได้ว่าเสียงเรียกนั้นมีเจตนาสื่อถึงพวกมันโดยใช้เพียงการฟัง นายปาร์โด ซึ่งเป็นนักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมของมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด ระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ ทีมวิจัยใช้เอไอวิเคราะห์เสียงร้องของช้างที่บันทึกไว้จากเขตสงวนแห่งชาติ ‘ซัมบูรู’ (Samburu) กับอุทยานแห่งชาติ ‘อัมโบเซลี’ (Amboseli) ระหว่างปี 2529-2565 และสามารถจำแนกเสียงเรียกที่แตกต่างกันได้ 469 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการส่งเสียงเรียกของช้าง 101 ครั้ง และการส่งเสียงตอบรับ 117 ครั้ง

ช้างทำเสียงได้หลากหลายมาก ตั้งแต่เสียงดังเหมือนแตรไปจนถึงเสียงครางยาวที่ต่ำจนหูมนุษย์ไม่ได้ยิน โดยพวกมันไม่ได้ใช้ชื่อเรียกกันตลอดเวลา แต่มักจะใช้การเรียกชื่อเมื่ออยู่ห่างกันเป็นระยะทางไกล และเมื่อช้างผู้ใหญ่เรียกช้างรุ่นเยาว์

...

นอกจากนั้นพวกเขายังพบว่าช้างวัยผู้ใหญ่ใช้การเรียกชื่อมากกว่าช้างรุ่นเยาว์ บ่งชี้ว่าอาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าที่ช้างจะเรียนรู้ความสามารถนี้

นักวิทยาศาสตร์ทดลองเปิดเสียงเวลาที่ช้างเรียกเพื่อน หรือครอบครัวของมัน ปรากฏว่าช้างที่ถูกเรียกมีปฏิกิริยาตอบสนองในเชิงบวกและกระฉับกระเฉง แต่ช้างตัวเดียวกันนี้กลับไม่มีปฏิกิริยามากนัก เมื่อนักวิทยาศาสตร์เปิดเสียงเรียกชื่อช้างตัวอื่นให้ฟัง

นายจอร์จ วิทเทอไมเยอร์ หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยระบุว่า โลมา หรือนกแก้ว เรียกขานกันและกันด้วยการเลียนแบบเสียงของเพื่อนร่วมสายพันธุ์ตัวอื่น แต่ช้างไม่ใช่เช่นนั้น ทำให้ตอนนี้มีเพียงช้างกับมนุษย์เท่านั้นที่นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าสามารถคิดค้นชื่อเรียกขานเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ได้ โดยไม่ได้ใช้การเลียนแบบเสียงของฝ่ายรับ.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : the guardian