ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปที่เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. พรรคการเมืองที่สนับสนุนยุโรปเสียที่นั่งให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนยุโรป แม้ว่ายังสามารถครองเสียงข้างมาก แต่ก็ส่งผลสะเทือนถึงการเมืองของประเทศที่เป็นสมาชิกใหญ่ของสหภาพยุโรปหรืออียู และทิศทางของรัฐสภายุโรปในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ขณะที่ภาพรวมเบื้องต้นพบว่า ขั้วการเมืองขวากลาง ยังครองเสียงข้างมากในสภายุโรปต่อไป โดยน่าจะได้ 189 ที่นั่ง จากทั้งหมด 720 ที่นั่งในสภายุโรป แต่กรณีแนวร่วมการเมืองฝ่ายขวาได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น อาจทำให้นโยบายต่างๆ อาจเกิดความล่าช้าและชะงักงันมากขึ้นในอนาคต
นโยบายต่างประเทศ
คณะมนตรียุโรป ซึ่งประกอบด้วยผู้นำจาก 27 ประเทศสมาชิก มักมีอิทธิพลเหนือรัฐสภายุโรปในด้านนโยบายต่างประเทศ และเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ โดยขึ้นอยู่กับรัฐสมาชิกที่จะตัดสินใจร่วมกันในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังยูเครน หรือตกลงที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปต่อรัสเซีย เป็นต้น
เซบาสเตียน เมลลาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรป จากสำนักวิจัยชัทแธมเฮาส์ กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภายุโรปสามารถลงคะแนนเสียงในมติต่างๆ และกลุ่มการเมืองสามารถเรียกร้องเพื่อผลักดันบางประเด็นไปในทิศทางหนึ่งได้ แแต่ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่มีอำนาจในเรื่องนโยบายต่างประเทศมากนัก
นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐสภายุโรปไม่มีอำนาจในเรื่องนโยบายต่างประเทศ และในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของหน่วยงานด้านงบประมาณของสหภาพยุโรป รัฐสภายุโรปจึงมีอำนาจการตัดสินใจในการใช้จ่ายของสหภาพยุโรป
หากหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มที่รัฐสภายุโรปมีความโน้มเอียงที่จะไปทางฝ่ายขวา การเรียกร้องให้สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน หรือความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ฉนวนกาซา อาจลดน้อยลง
...
กลุ่มการเมืองที่กำหนดวาระการประชุมในรัฐสภายุโรปครั้งต่อไป มีแนวโน้มที่จะคงจุดยืนต่อยูเครนเช่นในปัจจุบัน โดยนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากการรุกรานเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ชาติตะวันตกได้สนับสนุนความช่วยเหลือทางทหาร การเงิน และเชิงกลยุทธ์แก่ยูเครน
แต่เนื่องจากสมาชิกสภายุโรปฝ่ายขวา มีแนวโน้มที่จะอยู่ในรัฐสภายุโรปมากขึ้นในปีนี้ จุดยืนที่สนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขันของยุโรปจึงอาจเริ่มลดลง เนื่องจากหลายคนที่อยู่ฝ่ายขวามีแนวโน้มที่จะเห็นใจรัสเซีย
กลุ่มระดับชาติหลายกลุ่มอาจลดการสนับสนุนยูเครนลง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในยุโรป หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกสมาชิกสภายุโรปที่สนับสนุนรัสเซียมากขึ้น ผู้นำยุโรปก็อาจจะลดความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจสนับสนุนยูเครน
นโยบายสิ่งแวดล้อม
ทิศทางของนโยบายภายในของสหภาพยุโรปส่วนใหญ่กำหนดโดยกลุ่มการเมืองที่ทรงอำนาจที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปจะแจ้งข้อเรียกร้องของตนทันทีหลังการเลือกตั้งในยุโรป ตัวอย่างเช่น ในปี 2562 มีการเปิดตัวแพ็กเกจนโยบาย "กรีน ดีล" (Green Deal) เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุความเป็นกลางคาร์บอนทั่วทั้งสหภาพยุโรปภายในปี 2593 แต่ผลสำรวจชี้ว่าจุดศูนย์ถ่วงใหม่ของสภายุโรป จะหันเหออกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ไปยังการเมืองฝ่ายขวามากขึ้น ทำให้นโยบายในประเด็นต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลง
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปตกลงที่จะยุติการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลภายในปี 2578 ผู้ขับขี่จะยังคงสามารถซื้อรถยนต์มือสองที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลได้ แต่ผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้
เซบาสเตียน เมลลาร์ด กล่าวว่า เดิมทีสมาชิกสภายุโรปจะยืนยันการห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ในการลงมติในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่หากพรรคกรีน ซึ่งเป็นพรรคด้านสิ่งแวดล้อมพ่ายแพ้ และกลุ่มอนุรักษนิยมและนักปฏิรูปแห่งยุโรป หรืออีซีอาร์ (ECR) ซึ่งเป็นกลุ่มพรรคการเมืองชาตินิยมที่ไม่สนับสนุนยุโรป และพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด เป็นฝ่ายชนะ กลุ่มอนุรักษ์นิยมอาจจะต้องชะลอหรือเลื่อนกำหนดดังกล่าวออกไป
เช่นเดียวกับการเปลี่ยนไปสู่การเกษตรอินทรีย์ หลังจากการประท้วงของเกษตรกรทั่วสหภาพยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้ประเด็นด้านการเกษตรกลายเป็นวาระทางการเมือง สภาใหม่จะมีภารกิจที่สำคัญในการแสวงหาความสมดุลระหว่างการปฏิรูปนโยบายที่มีประโยชน์กับเกษตรกร และลดความเสียหายที่การทำการเกษตร อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
การลงมติของสหภาพยุโรปหลายครั้งในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับชัยชนะเพียงเล็กน้อย โดยร่างกฎหมายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (Nature Restoration Law) ของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิก บังคับใช้มาตรการฟื้นฟูพื้นที่ทางบกและทางทะเลในอียูอย่างน้อย 20% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี 2030 ได้รับความห็นชอบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสมาชิกสภาฯ 329 คนลงมติเห็นชอบ ส่วนอีก 275 คนลงมติคัดค้าน โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อรัฐต่างๆ ในสหภาพยุโรปนำมาตรการดังกล่าวมาใช้อย่างเป็นทางการ
...
นโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานและการลี้ภัย
เซบาสเตียน เมลลาร์ด คาดการณ์ว่าประเด็นอื่นๆ เช่น การเคารพหลักนิติธรรม การย้ายถิ่นฐาน และการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกัน หลังรัฐสภามีความโน้มเอียงไปทางฝ่ายขวา
หากเสียงข้างมากในสภา ซึ่งเป็นฝ่ายกลางซ้ายในปัจจุบัน ถูกยึดครองโดยแนวร่วมประชานิยม-ขวาชุดใหม่ นโยบายการย้ายถิ่นฐานและการลี้ภัยของสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะได้รับการยกเครื่องใหม่ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปร่างกฎหมายการลี้ภัย ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งวางกฎเกณฑ์สำหรับรัฐสมาชิก 27 ประเทศ เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับผู้ที่เดินทางมาถึงประเทศใดประเทศหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต
ร่างกฎหมายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 และมีข้อจำกัดมากกว่ากฎหมายเดิม ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขมากว่าสองทศวรรษแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายคือการต่อสู้กับการย้ายถิ่นที่ผิดกฎหมาย และเร่งกระบวนการเนรเทศ โดยออกคำสั่งอัตโนมัติให้ออกจากอาณาเขตเมื่อคำร้องขอลี้ภัยถูกปฏิเสธ
...
แต่เกือบจะทันทีที่มีการประกาศใช้ร่างกฎหมายนี้ กลุ่มประเทศสมาชิก 15 ประเทศที่นำโดยเดนมาร์ก ได้ส่งจดหมายถึงคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงการจ้างบุคคลภายนอกในการคัดกรองการโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย
การเลือกประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนใหม่
ผลของการเลือกตั้งในยุโรปจะส่งผลต่อผู้ที่จะได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนต่อไป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปที่รับผิดชอบในการเสนอกฎหมายใหม่ และถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดในระดับสหภาพยุโรป
แม้ว่าสภายุโรปจะเสนอผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ แต่ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงผลการเลือกตั้งรัฐสภาด้วย และผู้สมัครจะต้องได้รับการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงข้างมากจากรัฐสภายุโรป
นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งกำลังชิงตำแหน่งวาระที่ 2 มาจากกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภายุโรป นั่นคือกลุ่มประชาชนยุโรป หรือ EPP
เมลลาร์ดกล่าวว่า แม้กลุ่มขวาจัดทั้งสองกลุ่ม ทั้ง ECR และ Identity and Democracy จะทำคะแนนได้ดี และแม้ว่าพวกเขามีความพยายามที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ พวกเขาก็ยังคงมีที่นั่งไม่มากไปกว่า EPP
...
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เธอสามารถชิงตำแหน่งต่อในสมัยที่สาม เธอจะต้องขอเสียงสนับสนุนนอกเหนือจากที่เป็นอยู่ และนั่นก็ไม่อาจไม่สามารถรับประกันชัยชนะของเธอได้ นักการทูตยุโรปกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เธอได้เสียงสนับสนุนน้อยกว่าที่คาดไว้ประมาณ 50 เสียง ดังนั้นกลุ่มฝ่ายขวาที่ครองเสียงข้างมากยังคงสามารถเลือกผู้สมัครที่ไม่เชื่อเรื่องสหภาพยุโรป ต่อต้านการย้ายถิ่นฐาน หรือผู้สมัครที่สนับสนุนรัสเซีย ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนต่อไป
นั่นคือเหตุผลที่นางฟ็อน แดร์ ไลเอิน ต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำฝ่ายขวาของสหภาพยุโรป แม้ว่าเธอจะยกเลิกข้อตกลงกับกลุ่ม Identity and Democracy ที่มีแนวคิดขวาสุดโต่ง แต่เธอก็มีท่าทีที่คลุมเครือ เมื่อต้องทำงานร่วมกับ ECR เมื่อเดือนเมษายน เธอกล่าวว่าความร่วมมือกับ ECR ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของรัฐสภาชุดใหม่เป็นอย่างมาก "และใครอยู่ในกลุ่มใด"
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี กล่าวเตือนฟ็อน แดร์ ไลเอิน ว่าอย่าขอความช่วยเหลือจากฝ่ายขวาจัด ซึ่งเป็นคำเตือนที่สะท้อนมาจากนักสังคมนิยม กลุ่มกรีน และกลุ่มเสรีนิยมในรัฐสภายุโรป
ชอลซ์ กล่าวหลังการเจรจากับหลุยส์ มอนเตเนโกร รัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกส ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ว่า "เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดต่อไป จะต้องไม่ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในรัฐสภาซึ่งต้องการการสนับสนุนจากกลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งด้วย"
ชอลซ์กล่าวว่า "ผมรู้สึกเสียใจอย่างมากต่อความคลุมเครือของแถลงการณ์ทางการเมืองบางส่วนที่เราได้ยินเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ผมมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมันเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียว ในการสถาปนาตำแหน่งประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งหวังพึ่งการสนับสนุนจากกลุ่มดั้งเดิม"
เขากล่าวเสริมว่า "สิ่งอื่นใดนอกจากนี้จะถือเป็นความผิดพลาดสำหรับอนาคตของยุโรป"
ที่มา France24
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign