• นายนเรนทรา โมดี นำพรรคพันธมิตรเข้าบริหารประเทศต่ออีก 5 ปี โดยเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของอินเดีย ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียถึง 3 สมัยติดต่อกัน หลังจากรัฐบุรุษ ชวาหะร์ลาล เนห์รู เคยสร้างสถิติไว้ 
  • ขณะเดียวกันก็เป็นครั้งแรกที่ พรรคภารตียชนตา (BJP) ได้สส.ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ทำให้ต้องไปพึ่งพาพรรคอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) จึงจะคว้าเสียงข้างมากได้สำเร็จ และต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม 

การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียที่กินเวลายาวนาน และสิ้นสุดลงเมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผลออกมาพลิกความคาดหมายเมื่อ พรรคภารตียชนตา (BJP) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ สส.เพียง 240 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 272 คน ทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่ BJP ต้องพึ่งพาพรรคอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) จึงจะคว้าเสียงข้างมากได้สำเร็จ และต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม

อำนาจและการเมือง


ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความทะเยอทะยานในเวทีการเมืองโลกของโมดี มีอย่างหนึ่งที่ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะนี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีโมดี ในฐานะผู้มีอำนาจในเวทีโลก โดยอินเดียกลายเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ และเป็นเสาหลักของการจัดตั้งกลุ่ม Quad ควบคู่ไปกับญี่ปุ่นและออสเตรเลีย และขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และการป้องกันประเทศ

...

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ส่งข้อความแสดงความยินดีถึงนายโมดี สำหรับชัยชนะของเขาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกล่าวยกย่องมิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียว่า เป็นมิตรภาพที่เติบโตงอกเงยขึ้นเมื่อเราปลดล็อกอนาคตที่มีร่วมกัน แบบมีศักยภาพไร้ขีดจำกัด

อย่างไรก็ตาม ฟาร์วา อาเมอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียใต้ สถาบันนโยบายสังคมเอเชียในนิวยอร์ก กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้เท่านั้น โดยทั้งสองประเทศมีความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับเสถียรภาพของภูมิภาค และกำลังพัฒนาความร่วมมือด้านกลาโหมและเทคโนโลยีที่กำลังขยายตัว 

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตาภายหลังการชนะการเลือกตั้งอย่างเจ็บปวดของโมดี คือรัฐบาลใหม่จะส่งสัญญาณความสัมพันธ์ของอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้อย่างไร ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มลัทธิชาตินิยมฮินดูที่เข้มข้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่กระตุ้นความแตกแยกและความรุนแรงภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพื่อนบ้านปากีสถาน 

ตอนนี้พรรค BJP ของโมดีจะต้องตอบคำถามเรื่องผลประโยชน์ของพันธมิตรแนวร่วม และเผชิญกับการตรวจสอบที่รุนแรงขึ้นจากฝ่ายค้าน ซึ่งอาจบั่นทอนวาระชาตินิยมฮินดู และนักวิเคราะห์เน้นย้ำว่าต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อดูว่า BJP ปรับเปลี่ยนเป้าหมายนโยบายและวาทกรรมทางการเมืองใหม่อย่างไร

นายสุชานต์ ซิงห์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ กล่าวว่าหากเป็นเรื่องการเมืองปกติก็คงจะไม่มีอะไรมากนัก แต่เพื่อตอบสนองฐานเสียงกลุ่มชาตินิยมของพวกเขา ทางพรรค BJP อาจเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น อย่างการใช้วาทศิลป์เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะมีการเรียกร้องทางการเมืองอย่างไร

...

ผลงานของโมดีที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีโมดีได้ยกระดับภาพลักษณ์ของอินเดียในเวทีโลกอย่างที่ไม่เคยมีผู้นำคนไหนทำได้มาก่อน อินเดียมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และอยู่ในฐานะประเทศที่มีบทบาทโดดเด่นในเวทีโลก และเป็นผู้นำในประเด็นระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันก็ทำให้อินเดียเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญของสหรัฐฯ 

ชัยชนะของโมดี วัย 73 ปี ได้ทำให้เขาและ BJP พรรคชาตินิยมฮินดูของเขามีเวลาอีก 5 ปี ในการยกระดับชื่อเสียงระดับโลกของอินเดีย และเพื่อจัดการความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานกับประเทศเพื่อนบ้านที่ติดอาวุธนิวเคลียร์อย่างจีน และปากีสถาน

ความท้าทายที่รออยู่


แม้พรรค BJP จะมีแนวร่วมที่เป็นเอกภาพ แต่นักวิเคราะห์การเมืองอย่าง โซยา ฮาซัน จากมหาวิทยาลัยเยาวหระลาล เนห์รู ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงนิวเดลี มองว่า พันธมิตรแนวร่วมใหม่ของนายกรัฐมนตรีโมดีอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในวันข้างหน้า เนื่องจาก จันทราบาบู ไนดู และนิทิศ กุมาร์ ต่างก็เป็นนักการเมืองเจ้าเล่ห์ และยังไม่เห็นด้วยกับวาระชาตินิยมของ BJP ดังนั้นในบางโอกาสโมดีอาจจะต้องปะทะกับสองคนนี้ และอาจถึงขั้นแตกหัก 

ขณะเดียวกัน โมดียังอยู่ภายใต้แรงกดดันเพื่อให้แน่ใจว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจของอินเดียจะไม่ขยายห่างออกไปอีก โดยเศรษฐกิจของอินเดียขยายตัว 8.2% ในปีงบประมาณที่แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก

อย่างไรก็ตาม ภายในประเทศกลับมีปัญหาคนว่างงานสูง การจ้างงานต่ำ สินค้าราคาแพงขึ้น ในขณะที่รายได้ของประชาชนยังต่ำ โดยระหว่างปราศรัยหาเสียง โมดี กล่าวว่า ชนชั้นกลางเป็นพลังขับเคลื่อนของประเทศ และเมื่อกลับเข้าไปบริหารประเทศอีกครั้ง เขาจะทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของชนชั้นกลาง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และหาทางช่วยให้เกิดโอกาสและความเปลี่ยนแปลงแก่คนกลุ่มนี้.  

...