ทุกประเทศในโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญที่มีใช้ในปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นลักษณะลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ประเทศไทยของเรามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ เราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมากที่สุดในโลก ฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2560

ที่น่าสนใจคือรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีประชากรเกิน 1 พันล้านคนซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเทศ เสาร์ 8 มิถุนายน 2567 พลเมืองสาธารณรัฐอินเดียมี 1,440,874,855 คน สาธารณรัฐประชาชนจีนมี 1,425,208,391 คน ถ้าจะพูดถึงประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกต้องบอกว่าอินเดีย ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาหลายแห่งหันมาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดีย ที่มีการพูดถึงบ่อยทางอินเตอร์เน็ตก็คือ ‘รัฐธรรมนูญอินเดีย’

อินเดียใช้รัฐธรรมนูญแบบไหน ถึงสามารถดูแลประชากรมากที่สุดในโลกได้อย่างไม่วุ่นวายขายปลาช่อน แถมยังสามารถพาประเทศทะยานจากความเป็นชาติยากจนแร้นแค้น ไปสู่ความเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจชาติแถวหน้าของโลก หลายคนสนใจรัฐธรรมนูญจีน แต่จีนควบคุมประชาชนแบบรวมศูนย์ มีความเบ็ดเสร็จขาดแบบเผด็จการนิยม ผิดกับอินเดียที่เป็นประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์

อินเดียให้สิทธิเสรีภาพแบบที่ไม่ได้ปรากฏแต่เพียงตัวอักษร แต่ถูกนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง หลายท่านให้ข้อมูลแก่สาธารณชนผิดๆว่าอินเดียเป็นประเทศที่เอาศาสนามาปนกับการเมืองการปกครอง และมีการกำหนดถึงศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ขอเรียนว่า ‘ไม่ใช่ครับ’ ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญอินเดียเขียนไว้ชัดเจนว่า...“ผองเราปวงประชาชนแห่งอินเดียมีความตั้งใจและตกลงใจอย่างแน่ในการสถาปนาประเทศอินเดียให้เป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยฆราวาสนิยม...”

...

‘ฆราวาสนิยม’ ก็คือ ‘การไม่เอาศาสนาเข้ามาปนเปกับการเมืองการปกครอง’ แม้ว่าประชากรร้อยละ 79.8 ของอินเดียจะนับถือศาสนาฮินดู แต่อินเดียไม่ได้เอ่ยถึงศาสนาฮินดูในรัฐธรรมนูญ เปิดฟ้าส่องโลกจึงขอย้ำเรียนรับใช้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อินเดียเป็นชาติรัฐ เป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นประเทศที่ ‘ไม่มีศาสนาประจำชาติ’

ตั้งแต่สภาร่างรัฐธรรมนูญอินเดียลงมติยอมรับ ประกาศใช้ และมอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แก่ปวงชนชาวอินเดียในเมื่อ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.1949 แล้ว ก็ไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือล้มเลิกรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่เลยแม้แต่ครั้งเดียว

การเลือกปฏิบัติว่าคุณนับถือศาสนานั้น ฉันนับถือศาสนานี้ ที่อินเดียถือว่าผิดกฎหมาย มาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญอินเดียห้ามเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของศาสนา เชื้อชาติ วรรณะ เพศ หรือภูมิลำเนา หรือข้อใดข้อหนึ่ง

ทุกครั้งที่เราเข้าประชุมสัมมนา หรือเข้าไปร่วมการสนทนากับชาวอินเดีย จะพบว่าคนอินเดียมักจะอ้างรัฐธรรมนูญ ทำให้เราสนใจว่า ชาวอินเดียเรียนรู้รัฐธรรมนูญกันจากที่ไหน ถึงได้อ้างรัฐธรรมนูญกันบ่อย และอ้างได้อย่างถูกต้อง

นอกจากการศึกษาในระบบแล้ว พบว่าชาวอินเดียซึมซับรัฐธรรมนูญจากภาพยนตร์ สถาบันการศึกษาบางแห่งนำภาพยนตร์อินเดียที่อยู่ในเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงแบบต้องเป็นสมาชิกที่สมาชิกรับชมซีรีส์และภาพยนตร์ในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตมาศึกษา พบว่าเนื้อหาในภาพยนตร์อินเดียหลายเรื่องมีบทพูดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ

บางเรื่องพระเอกสามารถพูดถึงอารัมภบทของรัฐธรรมนูญอินเดียได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง “ผองเราปวงประชาชนแห่งอินเดียมีความตั้งใจและตกลงใจอย่างแน่วแน่ในการสถาปนาประเทศอินเดียให้…” “...ให้ความยุติธรรมทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง” “ให้เสรีภาพทั้งในด้านความคิด การแสดงออก ความเชื่อ ศรัทธา และการบูชา” “สร้างความเท่าเทียมทางสถานภาพและโอกาสทางสังคม”

“...และจะส่งเสริมให้มีภราดรภาพระหว่างประชาชนทั้งหลาย โดยรับรองป้องกันศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคล ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและบูรณภาพของประชาชาติ”

รัฐบาลบางประเทศอาจจะอยากส่งเสริมให้ประชาชนของตนซึมซับรัฐธรรมนูญผ่านบทพูดในภาพยนตร์หรือซีรีส์อย่างอินเดียบ้าง แต่ทำไม่ได้ เพราะพระเอกหรือตัวละครอาจจะถามผู้กำกับกลับว่า...“จะให้ผมพูดตามรัฐธรรมนูญฉบับไหนครับ” “ฉบับที่ 1 ฉบับที่ 10 หรือฉบับที่ 20”.


นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม