ในปี พ.ศ.2452 หรือเมื่อ 115 ปีก่อน ราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีการทำสนธิสัญญากับสหราชอาณาจักร เรื่องการกำหนดเขตแดนทางภาคใต้

โดยยกสิทธิการปกครองจังหวัดไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้กับอังกฤษ และทำให้พรมแดนในทุกวันนี้ ถือกำเนิดขึ้นอย่างชัดเจนระหว่างไทยกับคาบสมุทรมลายู แต่แน่นอนว่าการขีดเส้นดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้คนในพื้นที่ถูกแยกขาดออกจากกัน จากวันหนึ่งเคยมีสถานะเป็นคนสยาม กลับกลายเป็นไม่ใช่อีกต่อไป

แต่ถึงเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่สายเลือดของคนสยามก็ยังไม่จางหายไปไหน เพราะทุกวันนี้ยังคงมีคนเชื้อสายสยามหรือเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก โดยมีวัฒนธรรม ประเพณี และภาษา ที่พอได้เห็นได้ยินก็สามารถเชื่อได้ทันทีเลยว่านี่เรากำลังใช้เวลาอยู่กับกลุ่มคนไทย

จากการได้ติดตามนายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูง เดินสายจังหวัดนราธิวาส-เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน มาเลเซีย เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทีมข่าวต่างประเทศได้มีโอกาสไปเยือน “วัดพิกุลทองวราราม” บ้านบ่อเสม็ด อ.ตุมปัต รัฐกลันตัน ศาสนสถานชาวพุทธ ที่ยืนหยัดมายาวนานตั้งแต่ก่อนจะมีการแบ่งเส้นพรมแดนไทย-มาเลเซียไปกว่า 400 ปี

ท่ามกลางเสียงต้อนรับอย่างครึกครื้นจากขบวนกลองยาวที่ตีในจังหวะงานมงคล เราได้มีโอกาสพบปะกับ“คนสยาม” ในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ที่เข้ามาพูดคุยอย่างเป็นกันเองด้วยภาษาไทย ที่ฟังแล้วจะคล้ายๆกับเสียงสำเนียงภาคใต้ แต่ใช้คำศัพท์ปนๆกัน เป็นศัพท์ภาคกลางก็มี ศัพท์ภาคใต้ก็มี จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับคนไทยภาคกลางพยายามจะฝึกพูดสำเนียงใต้ยังไงยังงั้น

นายพิม อุตราพันธุ์ นายกสมาคมสยามกลันตันและเหล่าคณะกรรมการ บรรยายให้เราฟังว่า ศัพท์บางคำเป็นภาษาไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไม่มีการวิวัฒนาการทางภาษา เนื่องจากภาษาไทยในพื้นที่นี้เป็นสิ่งที่คนสยามในมาเลเซียปกปักรักษาไว้มาตั้งแต่อดีต สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แต่ถามว่าเข้าใจภาษาไทยสมัยใหม่หรือไม่ เข้าใจแน่นอนเพราะมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานต่างๆของทางการไทย นอกจากนี้ ภาษาราชการในพื้นที่บางคำก็เป็นคำไทยอย่าง Tawang-ท่าวัง หรือ Besut -บ้านสุด (บ้านที่อยู่สุดขอบ สุดปลาย)

...

ที่มาที่ไปของคนสยามในมาเลเซียตอบไม่ได้เลย ว่าอยู่มาตั้งแต่ตอนไหน แต่แน่นอนว่าอยู่มาหลายร้อยปีก่อนที่บริติชจะมาแบ่งเขตแดน ปัจจุบันนี้ในรัฐกลันตันมีคนสยามมากกว่า 28,000 คน ในรัฐเคดาห์มากกว่า 42,000 คน ในรัฐปะลิสมากกว่า 8,000 คน หากรวมทั้งหมดแล้วในมาเลเซียมีประมาณ 80,000 คน คิดเป็นสัดส่วนแล้วไม่ถึง 0.3% ของประชากรมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลเรียกคนแบบเราว่า “บูมิปูเตรา” หรือคนพื้นเมือง ถามว่าสิทธิเท่ากันหมดไหมก็เกือบเท่า มีติดขัดเช่นเรื่องซื้อที่ดิน แต่ภาพรวมถือว่าดี อย่างวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลก็อนุญาตให้คนสยามหยุดในวันที่ 13 เม.ย. ตามประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นเรื่องไม่เคยมีมาก่อน

แต่เรื่องนี้แยกให้เข้าใจว่า เราคือ “คนมาเลเซียเชื้อสายสยาม” ไม่ใช่ “คนไทยในมาเลเซีย” จริงอยู่ที่เรามองไทยเป็นมาตุภูมิเป็นต้นกำเนิดของคนเชื้อสายเรา แต่จริงๆแล้วเราคือชาวมาเลเซีย พูดภาษามาเลเซียได้ มีบัตรประชาชนมาเลเซีย มีคนสยามได้เป็นสมาชิกวุฒิสภามาเลเซียไปแล้ว 4 คน ซึ่งตรงจุดนี้มีคุณลุงรายหนึ่งพูดไปหัวเราะไปว่า กลับไปอยู่ไทย จะให้กลับไปที่ไหนกันเล่า ในเมื่อพวกเราเกิดที่นี่มาหลายเจเนอเรชัน “เราแค่ไม่ลืมรากเหง้า ต้นกำเนิดของตัวเราเอง ว่าเราเป็นใครมาจากไหน”

ในขณะที่ทุกคนกำลังอิ่มหนำสำราญกับข้าวต้มมัดไส้กล้วย ข้าวเหนียวปิ้ง และขนมชั้นที่มีรสชาติไม่ต่างอะไรกับสูตรดั้งเดิม ทีมข่าวต่างประเทศได้แอบแวะไปนั่งสนทนากับเจ้าอาวาส พระครูสุวรรณวรานุกูล (เพียง ฐานุตตโร) ถึงบรรยากาศในชุมชนว่าเป็นเช่นไร โดยท่านบอก ให้เราฟัง (ด้วยสำเนียงภาคกลาง) ว่าพวกเรา ทั้งหมดอยู่กันอย่างปรองดอง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และภาษา สืบทอดกันมาหลายรุ่น อย่างอาตมาเองก็เป็นคนที่นี่ เกิดที่นี่ และออกบวชตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

อย่างในชุมชนแถบนี้ ก็มีหมดทั้งคนพุทธ คนมุสลิม ถือเป็นชุมชนที่แน่นแฟ้น ใครมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน อย่างเวลาเรามีงานบุญ งานพิธีอะไร คนมุสลิมก็จะมาร่วม เพียงแต่เขาก็จะมีวิธีปฏิบัติตามแบบของเขาเพื่อไม่ให้ผิดหลักศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับเวลาเขามีอะไร พวกเราคนสยามก็จะไปร่วมด้วยช่วยกัน ไม่เคยมีปัญหาใดๆ จะมีทะเลาะกันบ้างก็แค่ตามประสาเพื่อนบ้านขัดแย้งกันเรื่องเล็กๆน้อยๆ

ท่านเจ้าอาวาสยังทิ้งท้ายด้วยว่า เอาเข้าจริงแล้วมองว่าสิ่งที่จะทำให้มีปัญหากันมันอยู่ที่ “คน” เท่านั้น ศาสนาไม่ใช่ตัวการ ที่ทำให้เกิดเรื่อง อย่างกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยเพิ่งเป็นผู้ใหญ่หลายคนที่มีแนวคิดหัวรุนแรง มันก็มาจากการ “ไปรับในสิ่งที่ไม่ใช่บ้านเรามา” ลืมกันไปหมดแล้วหรือว่าพื้นเพรากเหง้าของตัวเองคืออะไร เรามีประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามมายาวนานแค่ไหน อยากถามพวกเขาเหมือนกันว่า ทำไมมองว่าสิ่งที่รับมาจากภูมิภาคอื่นที่อยู่ห่างไปไกลโพ้นคือสิ่งที่ดีกว่า ทั้งที่ในบางครั้งหลักการพวกนั้นก็นำมาประยุกต์ใช้กับบ้านของเรา ชุมชนของเราไม่ได้เลย.

...

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7วันรอบโลก” เพิ่มเติม