ยานอวกาศฉางเอ๋อ 6 (Chang’e–6) น้ำหนัก 8,350 กก.ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน เดินทางจากฐานปล่อยยานบนเกาะไหหลำทางตอนใต้ของจีนเมื่อ 3 พ.ค.มีจุดหมายลงจอดคือหลุมอุกกาบาต “อพอลโล” ที่อยู่ภายในแอ่งขั้วโลกใต้-เอตเคน (South Pole–Aitken) ขนาดยักษ์ ตั้งอยู่ “ด้านไกลของดวงจันทร์” ด้านที่มองจากโลกไม่มีวันได้เห็น เพื่อทำภารกิจนำตัวอย่างหินและดินจากด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกกลับสู่โลก

ยานหุ่นยนต์ที่ไม่มีมนุษย์ของ “ฉางเอ๋อ 6” ไปจอดด้านไกลของดวงจันทร์ คือการตอกย้ำความสำเร็จของจีนที่สามารถส่งยานไปลงจอดในด้านไกลได้อีกเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากเมื่อเดือน ม.ค.2562 ยาน “ฉางเอ๋อ 4” เคยลงจอดและปล่อยรถสำรวจลงบนพื้นดินสีเทาบริเวณขั้วใต้ของด้านไกลดวงจันทร์ ซึ่งยังไม่มีประเทศใดทำได้สำเร็จเลย

“ฉางเอ๋อ 6” ใช้เวลาปฏิบัติการบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นเวลา 48 ชม. หน้าที่สำคัญคือการเก็บตัวอย่างใต้ผิวดินและพื้นผิวเป็นหลัก วิธีการก็คือเริ่มเจาะผิวดินก่อน จากนั้นก็ตักดินและหินจากจุดลงจอด แม้ว่าการเจาะจะถูกจำกัดให้ทำแค่จุดเดียว แต่นักวิทยาศาสตร์จากบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศของจีน เผยว่าตัวอย่างที่เจาะได้จะสามารถเปิดเผยข้อมูลทางธรณีวิทยาแบบเป็นชั้นๆลงไปถึงความลึกระดับหนึ่ง

ส่วนทำไมต้องเป็น แอ่งขั้วโลกใต้-เอตเคน ก็เพราะที่นี่เป็นหลุมอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนดวงจันทร์ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2,500 กม. ความลึก 13 กม. คาดว่ามีอายุประมาณ 4,300 ล้านปี การก่อตัวของแอ่งนี้เกิดจากเหตุการณ์การชนครั้งใหญ่ แรงชนปะทะอาจก่อให้เกิดคลื่นไหวสะเทือนอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้เกิดคลื่นไหวสะเทือนภายในดวงจันทร์และอาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของดวงจันทร์ได้นั่นเอง จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจธรณีวิทยาบนดวงจันทร์และไขประวัติศาสตร์ระบบสุริยะ

...

ตอนนี้ฉางเอ๋อ 6 อยู่ระหว่างเดินทางกลับโลกพร้อมตัวอย่างราว 2 กก. หากเป็นไปตามแผน ยานจะลงจอดที่จุดที่กำหนดในเขตปกครองตนเองมองโกเลีย ทางตอนเหนือของจีนในวันที่ 25 มิ.ย.

ผลงานครั้งนี้ของจีนยิ่งทำให้การแข่งขันทางอวกาศในศตวรรษที่ 21 ทวีความเข้มข้นขึ้น!

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม