ปัญหาขยะล้นโลกโดยเฉพาะพลาสติกส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสยิ่งกว่ามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งที่ตกค้างเป็น อนุภาคไมโครพลาสติก ขนาดเล็กกว่า 5 มม. แทรกซึมในเกือบทุกอณูของโลก เป็นภัยมหันต์ต่อสุขภาพ

ผลการศึกษาล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นถึงความจริงชวนช็อก หลังจากจัดทำแผนที่ประเมินความเสี่ยง “การดูดซึมไมโครพลาสติกของมนุษย์” ตั้งแต่ปี 2533-2561 ครอบคลุม 109 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า “มาเลเซีย” บริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว สูงสุดกว่าชาติใดในโลก

ตามมาด้วยอินโดนีเซีย อียิปต์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา กานา และคองโก อยู่ใน 10 อันดับแรก ขณะที่ยังมีประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเมียนมา รวมทั้งจีน และเกาหลีใต้ ติดอยู่ในโผ 20 อันดับ

ผลการศึกษาระบุชาวมาเลเซียรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายเป็นปริมาณโดยเฉลี่ย 15 กรัมต่อเดือน ต่อคน และส่วนใหญ่มาจากแหล่งน้ำ เช่น อาหารทะเล ส่วนชาวอินโดนีเซียที่ตามมาในอันดับ 2 ก็ดูดซึมเอาภัยร้ายเข้าร่างกายด้วยปริมาณราว 13 กรัมต่อเดือน ต่อคน ในทางกลับกัน “ปารากวัย” ในอเมริกาใต้ เป็นประเทศที่ผู้คนมีโอกาสรับประทานไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายน้อยที่สุด ประมาณ 0.85 กรัมต่อเดือน ต่อคน

ส่วนพื้นที่ที่ผู้คนสูดดมหายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไปมากที่สุด ยังคงเป็น “ทวีปเอเชีย” โดยผู้ที่อาศัยอยู่ใน จีน และ มองโกเลีย หายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไปมากที่สุดในโลก ด้วยปริมาณกว่า 2.8 ล้านอนุภาคต่อเดือน เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันที่สูดดมเข้าไปราว 300,000 อนุภาคต่อเดือน อย่างไรก็ตามประเทศในยุโรปอังกฤษ ไอร์แลนด์ มีอัตราการสูดดมไมโครพลาสติกสูงเป็นอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ ต่อด้วยแกมเบีย อียิปต์ ลาว เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อยู่ใน 10 อันดับแรก ขณะที่ไทยแลนด์ยังอันตราย ติดสอยห้อยตามเพื่อนบ้านในอันดับ 11

...

การวิจัยยังให้ความเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้น เป็นเจเนอเรชันที่สร้างขยะ นำไปสู่การดูดซึมไมโครพลาสติกของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำกลับมีการสนับสนุนด้านเงินทุนมากขึ้นเพื่อลดและกำจัดขยะพลาสติก นักวิจัยยังหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลและองค์กรท้องถิ่นปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อลดปัญหาดังกล่าวที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจท้องถิ่นและบริบทอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้.

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม