ยานฉางเอ๋อ-6 ของจีน เริ่มการเดินทางกลับโลกแล้ว พร้อมกับนำตัวอย่างหินและดินจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมาด้วยเป็นครั้งแรก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ฉางเอ๋อ-6 ยานสำรวจดวงจันทร์ของจีน ประสบความสำเร็จในการทะยานขึ้นจากด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อเวลา 07.38 น. วันอังคารที่ 4 มิ.ย. 2567 ตามเวลาประเทศจีน เพื่อเริ่มการเดินทางกลับสู่โลก พร้อมกับตัวอย่างดินและหินที่เก็บได้จากพื้นที่แห่งนี้แล้ว

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 มิ.ย.) ยานฉางเอ๋อ-6 ส่งหุ่นยนต์สำรวจลงจอดที่แอ่งขนาดใหญ่ชื่อว่า "แอ่งขั้วใต้-เอตเคน" (South Pole-Aitken Basin) ใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยจีนเป็นประเทศเดียวที่เคยส่งยานสำรวจไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จอีกด้วย โดยพวกเขาเคยทำมาแล้วในปี 2562

สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ระบุว่า ภารกิจลงจอดและนำยานกลับสู่โลกจากด้านไกลของดวงจันทร์ เป็นความสำเร็จที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์

ทั้งนี้ จีนทำภารกิจส่งยานเดินทางไปดวงจันทร์แล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยตั้งชื่อยานว่า ฉางเอ๋อ ตามชื่อเทพีแห่งดวงจันทร์ของตำนานจีน

ด้านไกล หรือบางครั้งเรียกกันว่า ด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งหันออกจากโลกตลอด เป็นความท้าทายในการส่งยานไปให้ถึง เนื่องจากมีระยะทางไกล และสภาพพื้นผิวที่เต็มไปด้วยแอ่งขนาดใหญ่และลึก แทบไม่มีพื้นที่เรียบเลย

การบังคับหุ่นยนต์สำรวจในพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยความเสี่ยง และเจ้าหน้าที่สำนักงานอวกาศจีนต้องใช้ดาวเทียมรักษาการสื่อสารโดยตรงกับยานฉางเอ๋อ-6 เอาไว้

จีนตั้งเป้าจะเป็นชาติแรกที่นำหินและดินจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมายังโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหินที่เก็บมาได้อาจมีองค์ประกอบแตกต่างจากหินที่อยู่ใกล้ๆ

...

CNSA แถลงการณ์สรุปในวันอังคารว่า ยานฉางเอ๋อ-6 ผ่านการทดสอบความต้านทานภูมิภาคสูงบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ และตอนนี้กำลังเริ่มการกลับโลกแล้ว

โมดูลพุ่งขึ้น (ascender) ยกตัวขึ้นจากพื้นผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยจะไปเชื่อมต่อกับยานโคจร (orbiter) บนวงโคจรของดวงจันทร์ แล้วถ่ายเทตัวอย่างที่เก็บมาได้เข้าสู่แคปซูลกลับโลก (re-entry capsule) ซึ่งถูกออกแบบมาให้ทนต่อแรงเสียดสีของชั้นบรรยากาศ และจะลงจอดในทะเลทรายของรัฐมองโกเลียใน ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย.นี้

ฉางเอ๋อ-6 ใช้เวลา 2 วันในการเก็บตัวอย่างดินกับหินด้วยแขนกลและสว่าน โดยเก็บตัวอย่างมาได้ทั้งหมด 2 กก.

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นมากว่าตัวอย่างที่ฉางเอ๋อ-6 เก็บมา อาจเป็นหนึ่งในหินที่เก่าแก่ที่สุดบนดวงจันทร์ โดยทีมในประเทศจีนจะได้รับโอกาสในการวิเคราะห์หินดังกล่าวก่อน จากนั้นนักวิจัยทั่วโลกจึงจะสามารถยื่นคำร้องขอโอกาสวิจัยด้วยได้

ศ.จอห์น เพอร์เน็ท-ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาดวงจันทร์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ บอกกับ บีบีซี ว่า การได้วิเคราะห์หินจากพื้นที่ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงบนดวงจันทร์ อาจให้คำตอบแก่คำถามพื้นฐานเกี่ยวกับการก่อตัวของดาวเคราะห์ต่างๆ ได้

ขณะที่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งต่อไปของจีน คือการส่งยานไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยหลายประเทศกำลังพยายามทำความเข้าใจพื้นที่แห่งนี้ เพราะมีโอกาสที่มันจะมีน้ำแข็งอยู่ ซึ่งหากมีจริง มันจะช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งฐานเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์บนดวงจันทร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc