เชื่อว่าเป้าหมายของเด็กจบใหม่หลายคน คือ การทำงานในองค์กรดีๆ ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมา โดยได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของตัวเอง แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนดั่งฝันไปเสียทั้งหมด เพราะนายจ้างก็ต้องการลูกจ้างที่สามารถทำงานได้ตอบโจทย์ความต้องการและคุ้มค่ามากที่สุด
ในเดือน มิ.ย.ปีนี้ ประเทศจีนกำลังจะมีนักศึกษาจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศราว 11.8 ล้านคน สร้างความกังวลให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “จะหางานทำได้หรือไม่” หรือ “จะมีงานรองรับหรือไม่” ดังเช่นเฉียน เล่อ และหวัง ฮุ่ย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เผยความกังวลกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า สถานการณ์การจ้างงานช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างซบเซาทำให้การหางานของเด็กจบใหม่ยากลำบากขึ้น เพราะคนที่มีงานทำอยู่แล้วยังเสี่ยงถูกปลดออก ส่วนนักศึกษาสาขาวิทยาการข้อมูลรายหนึ่งระบุว่า การจะหางานที่สอดคล้องกับสาขาที่เรียนและตรงกับความต้องการของตัวเองได้เป็นเรื่องยาก
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่า อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในจีน (ยกเว้นนักเรียนนักศึกษาอายุ 16-24 ปี) ในเดือน เม.ย.2567 อยู่ที่ 14.7% ลดลงจากเดือน มี.ค. คือ 15.3% ส่วนอัตราการว่างงานของคนจีนอายุ 25-29 ปี ในเดือน เม.ย. คือ 7.1% ลดลงจากเดือน มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 7.2% สะท้อนว่าตลาดแรงงานในจีนค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีก็นโยบายสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานในคนหนุ่มสาว เช่น กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของจีนที่เผยว่า ช่วงปลายเดือน เม.ย. มีการสร้างงาน เพิ่มขึ้น 3.03 ล้านตำแหน่งในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งยังมีเป้าหมายสร้างงานในพื้นที่ชนบทมากกว่า 12 ล้านตำแหน่ง เพื่อกระจายโอกาสในการทำงาน หลังก่อนหน้านี้ อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวพุ่งสูงถึง 21.3% ในช่วงกลางปี 2566
...
ด้านหลี่ ชาง อัน ศาสตราจารย์จากสถาบันการศึกษาเศรษฐกิจแบบเปิดของจีนแห่งมหาวิทยาลัย ธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ระบุกับสำนักข่าวโกลบอล ไทม์สของจีนว่า การที่สถานการณ์ตลาดแรงงานจีนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจภายในประเทศก็ดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตลาดแรงงานเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาเศรษฐกิจ กระนั้น อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวในเดือน เม.ย. ก็เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถการันตีได้ว่าอัตราดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงควรรักษาระดับนโยบายและให้ความสนใจไปที่การสร้างงานสร้างอาชีพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับเด็กจบใหม่จำนวนมากในอนาคต...
หรืออีกทางหนึ่งคือเหล่าเด็กจบใหม่และคนว่างงานคงต้องลดความคาดหวังของตัวเองเพื่อให้มีงานทำ.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม