มีข้อมูลว่าเปลือกส้มเหลือทิ้งปีละ 5,000 ล้านกิโลกรัมจากการผลิตน้ำส้มทั่วสหรัฐอเมริกา โดยส้มฟลอริดาเกือบ 95% ใช้ทำน้ำผลไม้ เปลือกประมาณครึ่งหนึ่งนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ที่เหลือก็เป็นขยะไป แต่เมื่อเร็วๆนี้ มีงานวิจัยเผยว่าเปลือกส้มอาจเป็นกุญแจสำคัญต่อการมีสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ดีขึ้น ผลการวิจัยใหม่นี้นำการศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา เผยแพร่ลงวารสารเคมีเกษตรและอาหาร

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าแบคทีเรียในลำไส้บางชนิดมีส่วนช่วยพัฒนาโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อพวกมันกินสารอาหารบางชนิดในช่วงย่อยอาหาร แบคทีเรียในลำไส้จะผลิตไตรเมทิลเอมีน เอ็น-ออกไซด์ (trimethylamine N-oxide หรือ TMAO) เป็นสารโปรตีนที่พบมากในสัตว์ทะเลโดยเฉพาะในปลาทะเลน้ำลึก ระดับของ TMAO สามารถช่วยพยากรณ์โรคหลอดเลือดหัวใจได้ นักวิทยาศาสตร์เผยว่าได้ตรวจสอบศักยภาพของสารสกัดจากเปลือกส้มที่อุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ เพื่อลดการผลิต TMAO และไตรเมทิลเอมีน (trimethylamine-TMA) โดยทดสอบสารสกัด 2 แบบคือส่วนมีขั้ว (polar fraction) และส่วนไร้ขั้ว (non-polar fraction)

ผลวิจัยพบว่า สารสกัดจากเปลือกส้มที่เรียกว่า non-polar fraction สามารถยับยั้งการผลิตสารเคมีที่เป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักวิจัยยังระบุสารประกอบที่เรียกว่า feruloylputrescine ในสารสกัดส่วนที่เป็น polar fraction ของเปลือกส้ม ยับยั้งเอนไซม์ที่รับผิดชอบในการผลิต TMA อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการวิจัยนี้จะปูทางไปสู่การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมด้วยสารประกอบออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางการรักษาแบบใหม่ด้านสุขภาพของหัวใจในวันข้างหน้า.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...