การโยกย้ายถิ่นฐาน การเคลื่อนย้ายของผู้คน เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัจจัยมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากพูดกันประสาชาวบ้านก็คือ ที่ไหนให้เงินเยอะก็ย่อมน่าสนใจมากกว่า

จึงไม่แปลกว่าทำไมคนไทยถึงสนใจที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่คนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา ถึงเลือกที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยกันเต็มไปหมด โดยเฉพาะในพื้นที่พรมแดนที่สามารถมาแบบไปเช้าเย็นกลับ ไม่ต่างอะไรกับการที่เราเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน

แต่แน่นอนว่าบางคนหรือหลายคนอาจเลือกที่จะหลีกหนีความยุ่งยากของขั้นตอนทางเอกสาร เห็นว่าที่ทำอยู่นี้ก็สามารถหาเงินได้เรื่อยๆ และทำให้หลายต่อหลายครั้งเกิดเรื่องราวที่ตามมามากมาย เช่นการถูกนักฉวยโอกาสรีดไถ การถูกจับกุมดำเนินคดี ไปจนถึงบุตรหลานมีปัญหาเรื่องสถานะพลเมือง เนื่องจากไปเกิดในต่างแดน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้มีโอกาสติดตามคณะของนายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และรัฐกลันตันของมาเลเซีย และทำให้ทราบว่า ในขณะที่ผู้คนของชาติเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของประเทศไทย นิยมข้ามพรมแดนเข้ามาทำงานบ้านเรา แต่สำหรับภาคใต้นั้นถือว่าตรงกันข้าม คนไทยเลือกที่จะข้ามแดนไปทำงานในมาเลเซียมากกว่า

โดยมีทั้งรับจ้างตามสวนยาง สวนปาล์ม หรือทำงานรับจ้างอื่นๆกันมาอย่างยาวนาน จนเกิดกรณีที่ว่า มีบุตรหลานแล้วไม่ได้ไปแจ้งเกิด ทำให้มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร กลายเป็นปัญหาสะสม

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “ตรวจสารพันธุกรรม DNA” เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆในไทย

...

งานนี้นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู มาเลเซีย เปิดเผยว่า ภารกิจหลักของเราคือการคุ้มครองดูแลคนไทยโดยไม่แบ่งแยก เป็นที่มาของโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการ “เปิดทาง” ให้ได้มาซึ่ง “บัตรประชาชน” เพื่อการ เข้าถึงสวัสดิการภาครัฐต่างๆที่คนไทยควร จะได้รับอย่างสิทธิได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล

ความจริงแล้วโครงการนี้นำร่องมาตั้งแต่ ปี 2560 ตรวจดีเอ็นเอคนไทยในรัฐกลันตัน ซึ่งจนถึงปี 2562 มีคนมาติดต่อขอรับการตรวจดีเอ็นเอ 252 คน ก่อนยกเว้นไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 2 ปี ก่อนกลับมาเริ่มดำเนินการอีกครั้งในปี 2566 ซึ่งตัวเลขของผู้เข้ามารับการตรวจอยู่ที่ 97 คน และยืนยันว่ามีดีเอ็นเอคนไทยถึง 89 คน และมาในปี 2567 นี้ตัวเลขได้พุ่งไปที่ 235 คนแล้ว ทั้งที่เวลาเพิ่งผ่านมา 5 เดือน

กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่ทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจแบบเชิงรุกผ่านโครงการกงสุลสัญจร หรือคนไทยไร้สัญชาติหรือคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นลูกหลานคนไทยยื่นคำร้องมาด้วยตนเอง ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งระยะเวลาสรุปผลก็แล้วแต่ว่า เป็นลูกหลานลำดับที่เท่าไร ถ้าเป็นลูกเลยผลก็เร็ว แต่ถ้าเป็นรุ่นหลาน เหลนแล้วก็นานเป็นเดือน

เมื่อผลออกมาชัดเจนว่าคุณคือคนไทยจริงๆ ทางสถานกงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู จึงจะดำเนินการออกใบเกิด “สูติบัตร” เพื่อเป็นการเริ่มต้นสู่กระบวนการขอบัตรประชาชนต่อไป ขณะที่ พ.ต.อ.พูลศักดิ์ แก้วสีขาว ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองนราธิวาส เปิดเผยว่า ทางกงสุลจะแจ้งมายังหน่วยงานว่า คนที่จะเดินทางกลับไปทำบัตร จะมีกี่คน ใครบ้าง และทางหน่วยงาน ตรวจคนเข้าเมืองก็จะอำนวยความสะดวกให้ไม่มีปัญหาเรื่องเข้าเมืองไม่ได้

จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงยังอธิบายให้เราฟังว่า ค่าตรวจโดยปกติแล้ว ถ้าเป็นพ่อแม่ลูกก็จะอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นรุ่นคุณปู่คุณย่าแล้วจะต้องใช้น้ำยาหลายชุด ราคาก็จะพุ่งไปที่ประมาณ 10,000 บาทหรือมากกว่านั้น แต่โครงการนี้สามารถมารับการตรวจได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องขอเรียนว่าถ้าตรวจแล้วขาดความเชื่อมโยง ไม่พบว่าเป็นคนไทยเลย ก็ต้องบอกเขาไปว่าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ซึ่งบางครั้งก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าเขาเชื่อมาตลอดว่าพ่อหรือแม่เป็นคนไทย หรือบางคนเข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ผิดก็มี พาพ่อเลี้ยงมาเป็นคู่เทียบตรวจ ทำให้บางครั้งต้องสืบหาญาติกันเพิ่มเติม อีกทั้งเรื่องนี้ต้องขอย้ำว่าทางกระทรวงต่างประเทศไม่มีบริการออกบัตรประชาชนให้ ต้องนำใบเกิดกลับไปเมืองไทย เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้าน จึงจะได้รับเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เราต้องระมัดระวังเรื่องนี้มันไม่ได้ขาวสะอาดเสมอไป

ช่วงแรกยอมรับว่าโครงการไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก เพราะบางคนก็ข้ามพรมแดนทางธรรมชาติเข้ามาทำงานในมาเลเซีย มีลูกมีหลานที่นี่โดยไม่ได้แจ้งเกิดอะไร ไม่รวมถึงปัญหาที่ว่าหลายคนก็หวาดระแวงว่า จะมาหลอกให้เปิดเผยตัวตน เพื่อจับกลับไปเมืองไทยหรือเปล่า หรือกลับไปแล้วจะกลับมาที่มาเลเซียอีกก็ลำบาก

...

แต่หลังจากส่งทีมลงพื้นที่ทำความเข้าใจ อย่างต่อเนื่อง กระจายข้อมูลข่าวสารออกไป บรรยากาศก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มรับรู้กันมากขึ้นว่า สิ่งนี้คือการรักษาสิทธิพลเมืองไทยให้แก่คนไทยทุกคน โดยเริ่มจากโกตาบารูเป็น “ที่แรก ในต่างประเทศ” ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม