ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก คนทั้งโลกก็ต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนมากมายนับไม่ถ้วน ภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความสลับซับซ้อน ไม่รู้จะไปในทิศทางไหน ถามว่าอะไรคือความเสี่ยงสำคัญที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญ และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงง่ายๆ

เนื่องจากปี 2024 จะมีการเลือกตั้งใหญ่ใน 60 ประเทศ ซึ่งกินขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% และครอบคลุมจำนวนประชากรกว่า 50% ของโลก ผลการเลือกตั้งในหลายประเทศจะมาเพิ่มความผันผวนให้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ชาวโลกกลัวว่า หาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย อาจทำให้สหรัฐฯเดินหน้าเต็มสูบกลับไปใช้นโยบายกีดกันทางการค้าอย่างเข้มข้นถึงใจ พร้อมปลุกชีพนโยบาย “America first” และใช้ยุทธศาสตร์การแข่งขัน กับจีนที่ขับเคี่ยวรุนแรงขึ้น ทั้งด้านการค้า, การลงทุน และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจจีน ดับฝันประเทศต่างๆ รวมถึงไทยที่หวังพึ่งจีนเป็นพี่ใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัว เพียงเพราะสหรัฐฯ-ยุโรป กลัวจีนจะกินรวบเลยต้องขวางไว้สุดชีวิต!!

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงอยู่แล้ว อันเนื่องมาจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบสองทศวรรษ, ตลาดแรงงานที่เริ่มอ่อนแรง แถมเงินออมส่วนเกินจากช่วงโควิดก็เริ่มหมดลงในหลายประเทศ “SCB EIC” ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านลบอีกหลายเรื่อง ที่ล้วนแต่กดดันให้ท้อแท้ โดยเฉพาะ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่ก่อให้เกิดการชะงักงันของอุปทานโลกอย่างรุนแรง ต้องจับตาทั้งสงครามอิสราเอลและฮามาส, การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ, ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันที่อาจรุนแรงขึ้น, ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี รวมไปถึงสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โลกเราช่างหาความสงบได้ยากจริงๆ

...

นี่ยังไม่นับรวมถึง นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มจะตึงตัวนานกว่าคาด แม้ขณะนี้ธนาคารกลางหลักของโลก เช่น ธนาคารกลางของสหรัฐฯ, สหราช อาณาจักร และยูโรโซน จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 ตามอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง แต่ถ้าเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีกอย่างไม่คาดคิด ก็อาจกระตุกให้ธนาคารกลางหลักชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน กดดันภาคการเงินให้ตึงตัว และฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งโลก

อีกหนึ่งสัญญาณที่ตอกย้ำว่าโลกของเรากำลังอยู่ในยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอนและผันผวนสุดๆ คือ รัฐบาลเกือบทุกประเทศมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงใหม่ๆได้น้อยลงกว่าเดิมมาก ราวกับโลกใบนี้จะไร้ผู้นำที่มีฝีมือ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องเข้ามาบริหารประเทศในยุคที่เต็มไปด้วยแรงกดดันทางการคลังเพิ่มขึ้น หลังการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วงวิกฤติโควิด แถมโดนกระหน่ำซ้ำด้วยรายจ่ายอีกสารพัด ทั้งรายจ่ายจากประชากรสูงวัย, รายจ่ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, รายจ่ายทางการทหารที่มากขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก และหนักสุดคือการแบกภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น เนื่องจากหนี้เดิมที่เคยกู้ไว้ในช่วงดอกเบี้ยต่ำต้องต่ออายุด้วยต้นทุนเงินกู้แพงขึ้น ทุกวันนี้ทั่วทั้งโลกจึงมีแต่รัฐบาลกระเป๋าฉีกกระเป๋าแฟบ แล้วจะเอากระสุนที่ไหนไปอัดฉีดเศรษฐกิจให้ฟื้นชีพ...คิดแล้วเก๊กซิมจริงๆ.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม