หน่วยงานระหว่างประเทศเร่งส่งเจ้าหน้าที่ไปกู้สถานการณ์เหตุดินถล่มครั้งใหญ่ในปาปัวนิวกินี ซึ่งคาดกันว่ามีผู้ถูกฝังอยู่ใต้ดินกว่า 2,000 คน และสหประชาชาติประเมินว่า ไม่น่าพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมแล้ว

เมื่อเวลาประมาณ ตี 3 ของวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ลงมาจากภูเขามุนกาโล หลังจากเกิดฝนตกอย่างหนัก กลืนกินพื้นที่เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร จนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ ฝังบ้านเรือนเกือบทั้งหมดของหมู่บ้านยัมบาลี ในจังหวัดเอ็นกา ของปาปัวนิวกินี ไว้ใต้กองดินและซากปรักหักพังหนากว่า 8 เมตร

เจ้าหน้าที่ทั้งท้องถิ่นและจากหน่วยงานระหว่างประเทศยังคงเร่งขุดกองดินและหินปริมาณมหาศาล ทั้งด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ และอุปกรณ์ขนาดเล็กอย่างพลั่วหรือท่อนไม้ หลายคนตัดสินใจขุดด้วยมือ โดยหวังว่าจะได้พบกับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา

ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติของปาปัวนิวกินี คาดว่า มีผู้เคราะห์ร้ายมากกว่า 2,000 คน ถูกฝังเอาไว้ใต้ดิน แต่จนถึงตอนนี้พวกเขาขุดพบร่างผู้เสียชีวิตเพียง 6 ศพเท่านั้น ผู้แทนองค์การยูนิเซฟในปาปัวนิวกินีถึงกับกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่ปฏิบัติการช่วยเหลือ แต่เป็นปฏิบัติการฟื้นฟู” และ “ไม่น่ามีโอกาสที่ผู้ประสบเหตุจะรอดชีวิตแล้ว”

...

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยอย่างเต็มรูปแบบยังถูกขัดขวางอย่างหนักจากสภาพภูมิประเทศที่อยู่ห่างไกล ถนนเพียงเส้นเดียวที่เชื่อมต่อกับหมู่บ้านที่เกิดเหตุถูกตัดขาด ฝนที่ยังคงตกลงมาเป็นครั้งคราว จนเสี่ยงทำให้เกิดดินถล่มซ้ำอีก จนทางการต้องสั่งอพยพประชาชนอีกหลายพันคนในวันอังคารที่ 28 พ.ค. และสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างชนเผ่า

ตามการเปิดเผยของทางการจังหวัดเอ็นกา มีผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้มากกว่า 7,840 ราย รวมถึงผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว หรือหายสาบสูญด้วย และผู้พลัดถิ่นอีก 1,650 คน โดยผู้พลัดถิ่นจำนวนมากเป็นผู้ที่หลบหนีความรุนแรงระหว่างชนเผ่ามาจนถึงพื้นที่แห่งนี้

หลายหน่วยงานแสดงความกังวลว่า เนื่องจากศพผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังคงถูกฝังอยู่ใต้กองดิน จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำบาดาลเกิดการปนเปื้อน คุกคามสุขภาพต่อผู้ที่บริโภค ท่ามกลางปัญหาแหล่งน้ำขาดความสะอาด และขาดแคลนเนื่องจากถูกดินถล่มกลืนไปเกือบทั้งหมด

และในเช้าวันอังคาร สะพานที่เชื่อมต่อจังหวัดเอ็นกากับจังหวัดเวสเทิร์น ไฮแลนด์ พังถล่มลงมา ทำให้การขนส่งเสบียงและความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยทำได้ยากขึ้นไปอีก

สถานการณ์ที่เลวร้ายลงทำให้ ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติของปาปัวนิวกินี ร้องขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติทันที ทำให้เกิดการตอบสนองฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น เช่น การแจกจ่ายอาหาร, จัดหาที่พักชั่วคราวและน้ำดื่มฉุกเฉิน, การช่วยเหลือด้านสุขอนามัยและความสะอาด รวมทั้งสนับสนุนการขนส่ง และมาตรการการป้องกันต่างๆ ด้วย.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : ap