• ฟาร์มโคนมในสหรัฐฯ กำลังเผชิญการระบาดของไวรัสไข้หวัดนก H5N1 และที่น่ากังวลคือ พบไวรัสในนมที่ได้จากวัวที่ติดเชื้อ และพบเศษไวรัสในผลิตภัณฑ์หลายชนิด

  • ทางการสหรัฐฯ ยืนยันว่า ความเสี่ยงต่อสังคมยังคงอยู่ในระดับต่ำ เศษไวรัสที่พบในผลิตภัณฑ์ก็เป็นซากที่ตายหมดแล้ว ไม่สามารถทำให้ใครติดเชื้อได้อีก

  • อย่างไรก็ตาม ทั้ง CDC กับ FDA ต่างแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มนมดิบ หรืออาหารที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเชื้อในนมดิบยังทำให้สัตว์ติดเชื้อได้ และอาจมีความเสี่ยงต่อมนุษย์

ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งคร่าชีวิตนกป่าไปหลายล้านตัว และระบาดเป็นพักๆ ที่ฟาร์มไก่ในหลายประเทศทั่วโลก ตอนนี้กำลังทำให้เกิดการระบาดในฟาร์มโคนมในหลายรัฐทั่วสหรัฐอเมริกา และมีมนุษย์ติดเชื้อจากวัวไปแล้ว 2 รายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

แม้ว่ากรณีมนุษย์ติดเชื้อ H5N1 จะเกิดขึ้นน้อยมาก แต่หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 การที่ไวรัสอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีโอกาสติดต่อสู่คนได้ กำลังแพร่กระจายมากขึ้นตามฟาร์มต่างๆ ทำให้กระแสความกังวลเพิ่มขึ้นไปด้วย

ตอนนี้ยังมีข่าวดีคือ ไม่มีกรณีการติดเชื้อไข้หวัดนกแบบคนสู่คนเกิดขึ้นในสหรัฐฯ และเชื้อ H5N1 ก็ไม่ได้ถูกจัดเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในสหรัฐฯ ในเวลานี้ ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ก็จัดความเสี่ยงต่อสังคมยังอยู่ในระดับต่ำ

แต่ก็มีข่าวน่ากังวลที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน นั่นคือการพบเชื้อในนมดิบจากวัวที่ติดเชื้อ และในผลิตภัณฑ์บางชนิดตามท้องตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังทดสอบว่า นมที่ปนเปื้อนนี้สามารถแพร่เชื้อสู่สัตว์ชนิดอื่นๆ ได้หรือไม่ และกระบวนการฆ่าเชื้อในการผลิตสินค้าต่างๆ สามารถกำจัดมันได้มากน้อยเพียงใด

...

จุดเริ่มต้นการระบาดในสหรัฐฯ

เชื้อ H5N1 ถูกพบในสหรัฐฯ กับแคนาดาเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2564 จากนั้นเชื้อก็กระจายไปยังนกป่าหลากหลายสายพันธุ์ทั่ว 50 รัฐของอเมริกา ก่อนจะแพร่มาถึงฟาร์มไก่ และสัตว์ปีก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ไวรัสชนิดนี้ถูกตรวจพบในฟาร์มสัตว์ปีกใน 48 รัฐแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น มันยังก่อให้เกิดการติดต่อในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นครั้งคราว ทั้ง หมี, แมวป่า, สิงโตภูเขา, แรคคูน, สกังก์ และอื่นๆ และในปีนี้ มันแพร่กระจายไปถึงฟาร์มโคนม 58 แห่ง ใน 9 รัฐแล้ว

CDC ระบุว่า โคนมกลายเป็นโฮสต์ชนิดใหม่และเหนือความคาดหมายของไวรัส H5N1 เป็นสัญญาณว่าไวรัสชนิดนี้กำลังกลายพันธุ์ให้ติดต่อสู่สัตว์ต่างๆ หรือกระทั่งมนุษย์ได้ง่ายขึ้น โดยอาการป่วยในวัวจะเบากว่าที่เกิดกับนก แต่ก็ทำให้สังเกตโรคยากขึ้นด้วย

ในปี 2567 นี้ มีรายงานพบมนุษย์ติดเชื้อไข้หวัดนกจากวัวเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน โดยเป็นคนงานในฟาร์มโคนมแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัส ก่อนที่ในเดือนต่อมา คนงานฟาร์มโคนมอีกแห่งในรัฐมิชิแกนก็ติดเชื้อจากการสัมผัสกับวัวที่ป่วย อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่มีเพียงอาการติดเชื้อในดวงตาเท่านั้น ซึ่งอาการไม่รุนแรงและหายดีในเวลาต่อมา

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่า H5N1 จะแพร่ไปสู่หมูมากกว่า เพราะหมูสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งชนิดที่เกิดกับมนุษย์และเกิดกับสัตว์ ทำให้มันกลายเป็นหมอผสมไวรัสอย่างดี ที่อาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ในระยะยาว

พาสเจอร์ไรซ์ฆ่าเชื้อได้หรือไม่?

ข่าวการพบเชื้อไวรัส H5N1 ในนมดิบจากวัวที่ติดเชื้อและในผลิตภัณฑ์บางชนิดในสหรัฐฯ สร้างความกังวลแก่ผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งนักวิจัยในเครือข่ายศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านวิจัยและตอบสนองต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ (CEIRR) ได้นำตัวอย่างนมดิบจากโคนมที่ติดเชื้อ 4 ตัว ในรัฐนิวเม็กซิโกและรัฐแคนซัส มาทดสอบ และได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ

อย่างแรก พวกเขานำนมดิบที่มีไวรัส H5N1 อยู่เต็มไปหมด ไปเข้าตู้แช่เย็น เพื่อดูว่าระดับของไวรัสในนมจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่ ซึ่งหลังจากผ่านไป 5 สัปดาห์ นักวิจัยก็พบว่า ระดับไวรัสในนมลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่ง ดร.ซีมา ลักดาวาลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันและจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัย เอโมรี กล่าวว่า “การที่เชื้อไม่ย่อยสลายไปเมื่อเวลาผ่านไป เป็นเรื่องที่น่ากังวล”

ทีมนักวิจัยยังตรวจสอบว่า การพาสเจอร์ไรซ์ (pasteurization) หรือการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนแบบใดสามารถฆ่าเชื้อหวัดนกในนมดิบได้ดีที่สุด โดยพวกเขานำตัวอย่างนมจำนวนหนึ่งมาทดสอบให้ความร้อนด้วยอุณหภูมิต่ำ เป็นเวลานาน หรือที่เรียกกว่า ‘vat pasteurization’ และนำตัวอย่างอีกกลุ่มมาให้ความร้อนด้วยอุณหภูมิสูงในระยะเวลาสั้นๆ หรือ ‘flash pasteurization’

ผลปรากฏว่า วิธี vat pasteurization ซึ่งให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5-30 นาที ทำให้ระดับไวรัสลดลงไปอยู่ระดับที่ไม่สามารถตรวจวัดได้ ขณะที่วิธี flash pasteurization ซึ่งให้ความร้อน 72 องศาเซลเซียส นาน 15-20 วินาที ลดระดับไวรัสในนมได้มาก แต่ไม่ได้ทำให้ไวรัสหมดสภาพ (inactivate) ทั้งหมด

ตัวอย่างนมที่ให้ความร้อน 15-20 วินาทียังสามารถแพร่เชื้อไปยังไข่ไก่ที่ยังไม่ฟักตัว อันเป็นวิธีที่มาตรฐานของสำนักงานจัดการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ในการทดสอบว่า ไวรัสที่หลงเหลืออยู่ในนมยังสามารถติดต่อได้อยู่หรือไม่

...

ยืนยัน ความเสี่ยงยังต่ำ

อย่างไรก็ตาม ดร.โยชิฮิโระ คาวาโอกะ นักไวรัสวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่และอีโบลา ย้ำว่า เงื่อนไขของการทดลองที่เกิดขึ้น แตกต่างจากการจัดการนมดิบในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่ ดร.ลักดาวาลา ก็ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องแตกตื่นกับผลการศึกษานี้

เธอให้เห็นผลว่า กระบวนการ flash pasteurization ในเชิงพาณิชย์ มีขั้นตอนที่เรียกว่าการ ‘ให้ความร้อนล่วงหน้า’ (preheating) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในการทดลอง และยังมีกระบวนการโฮโมจิไนซ์ (homogenization) เพื่อทำให้เม็ดไขมันในนมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งทั้งสองขั้นตอนนี้ทำให้มีโอกาสน้อยที่ไวรัสจะรอดชีวิต

FDA ทำการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากนมหลากหลายรายการเช่น ชีสสด, ซาวร์ครีม, นมผง และนมผงสูตรสำหรับเด็กมาตรวจสอบและพบว่า จากตัวอย่างทั้งหมด 297 รายการ ราว 1 ใน 5 หรือ 20% มีเศษซากของไวรัส H5N1 หลงเหลืออยู่ แต่พวกมันหมดสภาพ ไม่สามารถทำให้ใครป่วยได้อีกแล้ว

...

เชื้อในนมดิบทำสัตว์ติดเชื้อได้?

CDC ยังคงยืนยันว่า ความเสี่ยงของเชื้อ H5N1 ต่อสาธารณะยังคงต่ำ แต่ประชาชนไม่ควรกินหรือดื่มนมดิบ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมดิบ

ทีมนักวิจัยต้องการหาคำตอบว่า นมดิบที่ปนเปื้อนสามารถทำให้สัตว์อื่นๆ ติดเชื้อได้หรือไม่ พวกเขาจึงป้อนนมให้หนูทดลอง และมันก็เริ่มแสดงอาการป่วยในวันถัดมา พอถึงวันที่ 4 อวัยวะหลายส่วนของหนูก็เริ่มติดเชื้อ นักวิทยาศาสตร์พบไวรัสอยู่ทั่วร่างกายของมัน และพบเยอะมากในปอดกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน พวกเขายังพบไวรัสบริเวณเต้านมของหนูด้วย แม้ตอนนั้นมันจะไม่ได้ผลิตน้ำนมก็ตาม

การทดลองนี้จึงยืนยันว่า ไวรัสในนมดิบสามารถติดต่อสู่สัตว์ที่ไวต่อโรคชนิดอื่นได้ และอาจมีความเสี่ยงต่อมนุษย์ด้วย

กินนมดิบมีความเสี่ยง

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการเกษตรของสหรัฐฯ ยืนยันเมื่อไม่นานมานี้ว่า พวกเขายังไม่ได้รับรายงานว่า มีนมดิบจากฟาร์มที่พบการระบาดของเชื้อ H5N1 ถูกขายไปในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ฟาร์มโคนมทุกแห่งที่ตรวจโรควัวของตัวเอง และวัวที่ติดเชื้อบางตัวก็ไม่แสดงอาการป่วยใดๆ ออกมา ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก

FDA ออกคำแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่ม, ผลิต หรือขายนมวัวดิบ และเลี่ยงผลิตภัณฑ์อย่าง ชีส, ไอศกรีม และโยเกิร์ต ที่ทำจากนมดิบ เพราะถึงแม้ว่าการติดเชื้อของมนุษย์ในฟาร์มโคนมทั้ง 2 กรณีจะไม่เกี่ยวข้องกับนมดิบ แต่ครึ่งหนึ่งของประชากรแมวเลี้ยงที่ฟาร์มในรัฐเท็กซัส ตายหลังจากดื่มนมดิบจากแม่วัวที่ติดเชื้อ H5N1

ดร.นิราฟ ชาห์ รองผู้อำนวยการใหญ่ของ CDC กล่าวว่า “นมดิบไม่ปลอดภัยเลย และความเชื่อที่ว่าคุณจะสามารถปกป้องตัวเองจากการติดเชื้อ H5 ได้ด้วยการบริโภคนมดิบนั้น ไม่ถูกต้อง มีวิธีที่ปลอดภัยกว่านั้นมากในการปกป้องตัวเองนั้นก็คือ การหลีกเลี่ยงนมดิบ”

ขณะที่ ดร.รุธ ฮาร์วีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ไข้หวัดใหญ่โลก ในกรุงลอนดอน สรุปการทดลองนี้ว่า “ข้อจำกัดในการทดลองฆ่าเชื้อด้วยการให้ความร้อน บอกชัดเจนว่า เงื่อนไขในการทำไม่ตรงกับการจัดการนมดิบของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่”

“แต่การค้นพบว่า มีไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ในตัวอย่างนมที่ถูกแช่เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสนาน 5 สัปดาห์ และการที่หนูสามารถติดเชื้อผ่านการดื่มนมที่ปนเปื้อนไวรัสได้ สนับสนุนข้อสรุปที่ว่า การดื่มนมดิบอาจมีความเสี่ยง”





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnnyalemedicine

...