การซ้อมรบครั้งใหญ่ของจีนรอบเกาะไต้หวัน ภายใต้รหัส “Joint Sword” เป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นอีกครั้งว่า รัฐบาลจีนจะไม่ปล่อยผ่านในเรื่องความเป็นปึกแผ่นของดินแดน
โดยการจำลองทำศึกครั้งนี้ มีขึ้น 2 วัน หลังจาก “ไล่ ชิงเต๋อ” ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในกรุงไทเป เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ถูกสื่อตะวันตกบางส่วนมองว่า จีนเล่นใหญ่เกินกว่าเหตุ และไม่ยอมรับไต้หวันที่แสดงจุดยืนทางประชาธิปไตย
แต่หากดูที่มาที่ไปแล้ว สิ่งที่ทำให้จีนต้องมาออกโรงเช่นนี้ มันซุกซ่อนอยู่ในถ้อยแถลงของประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ และตีความได้ว่ารัฐบาลใหม่ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) กำลังเปิดหน้าท้าทาย “สถานะที่เป็นอยู่” (Status Quo) ของสองฝั่งช่องแคบ ซึ่งเป็นหลักการที่ทางชาติตะวันตกเองก็ต้องการให้รักษาไว้
ในวันนั้นผู้นำไต้หวันกล่าวสุนทรพจน์ว่า “บางคนเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าสาธารณรัฐจีน บางคนเรียกว่าสาธารณรัฐจีนไต้หวัน และบางคนก็เรียกดินแดนแห่งนี้ว่าไต้หวัน แต่ไม่ว่าคนของเราเอง หรือเพื่อนต่างประเทศจะเรียกประเทศเราว่าอะไร เราก็จักมีความเปล่งประกายโดดเด่นไม่แตกต่างกัน”
คำกล่าวของไล่ ชิงเต๋อยังรวมถึงถ้อยคำว่า “สาธารณรัฐจีนไต้หวันมีอธิปไตยของตัวเอง เป็นชาติเอกราชที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของประชาชน” ทั้งยังย้ำอยู่หลายครั้งถึงความเป็น “ประเทศ” ตัวอย่างเช่น “ไต้หวันถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆของประเทศในเอเชีย และไต้หวันก็เหมือนกับอีกหลากหลายประเทศในโลกนี้ ที่เคยผ่านความยากลำบากของการฟื้นฟูหลังสงคราม”
...
และสุดท้ายประธานาธิบดีคนใหม่ยังระบุด้วยว่า ไต้หวันถือเป็นจุดยุทธศาสตร์แรกของเครือข่ายหมู่เกาะ เรารับรู้ดีว่าเราคือป้อมปราการในการรับมือจีนแผ่นดินใหญ่
ประโยคเหล่านี้ถ้าเป็นรัฐบาลจีนอ่านก็คงต้องสะดุด เพราะประการแรกคือชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวันคือ “สาธารณรัฐจีน” ดังนั้นการที่ผู้นำเรียกชื่อดินแดนของตัวเองว่า “สาธารณรัฐจีนไต้หวัน” ก็มองได้หรือไม่ว่า เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะให้ต่างไปจากเดิม ขณะที่ประการต่อมา การใช้คำว่าเอกราชอย่างชัดเจนเช่นนี้ มันก็แตกต่างจากผู้นำคนก่อนๆ และยิ่งกว่า “ไช่ อิงเหวิน” ผู้นำคนก่อน ที่ถูกมองว่าออกตัวแรงกว่าใครๆ
ส่วนประการที่สาม การบอกว่าไต้หวันคือจุดยุทธศาสตร์ของเครือข่ายหมู่เกาะ เป็นป้อมปราการรับมือจีน ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณหรือไม่ว่าไต้หวันมีความสำคัญในยุทธศาสตร์ “ตาข่ายปิดล้อมจีน” ของชาติตะวันตก และสิ่งที่รัฐบาลจีนกล่าวหามาตลอดว่าไต้หวันกำลังถูกใช้เป็นหมากของตะวันตก มันก็คือเรื่องจริง?
จึงไม่แปลกที่กลุ่มการเมืองของไต้หวันเอง จะออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อสุนทรพจน์ครั้งนี้ โดย “หม่า อิงจิ่ว” อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน สังกัดพรรคฝ่ายค้านก๊กมินตั๋ง ให้ความเห็นว่า ไล่ ชิงเต๋อ กำลังนำเสนอหลัก “สองประเทศ” ด้วยการยืนยันว่าไต้หวันคือชื่อประเทศ และการแสดงจุดยืนเช่นนี้ ถือว่ารัฐบาลใหม่กำลังพาไต้หวันไปในเส้นทางสู่ความเป็นเอกราช ซึ่งย่อมนำไปสู่สถานการณ์อันตรายในช่องแคบ
เช่นเดียวกับ “อีริค ฉู” หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มองคล้ายกันว่า ไล่ ชิงเต๋อ กำลังตีกรอบการทำงานร่วมกับจีนหลังจากนี้ว่า จะต้องอยู่ภายใต้ หลักการสองประเทศ ซึ่งย้อนแย้งกับทิศทางของอดีตประธานาธิบดีไช่ อิงหวิน ที่ยังยึดต่อหลักการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบ
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของชาติตะวันตกที่มีต่อการรับตำแหน่งใหม่ของผู้นำใหม่ ก็ดูเหมือนจะเป็นการ “ราดน้ำมันเข้ากองเพลิง” โดยแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีว่า ตั้งตารอที่จะได้ร่วมทำงานกับประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของไต้หวัน เพื่อเสริมสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ร่วมกัน สานสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการอันยาวนานให้มีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น พร้อมรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลสหภาพยุโรปประจำไต้หวัน ก็ระบุเช่นเดียวกันว่าขอแสดงความยินดีกับไต้หวัน ที่แสดงให้เห็นถึงความเบ่งบานของประชาธิปไตย สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบคือกุญแจสู่ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและของโลก
เพราะสามารถตีความได้ว่าชาติตะวันตกที่สนับสนุนให้สองฝั่งช่องแคบรักษา “สถานะที่เป็นอยู่” มาโดยตลอดเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค พร้อมขอต่อต้านการกระทำใดๆที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่นั้น ก็ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจอะไรกับแถลงการณ์ของผู้นำไต้หวัน ที่มองได้ว่าตั้งใจที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ให้ต่างไปจากเดิม
ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจว่า ทำไมรัฐบาลจีนถึงเงียบหายไป 2 วัน หลังพิธีสาบานตน ตามมาด้วยการออกแถลงการณ์โดยสำนักกิจการไต้หวันของจีน (TAO) ว่า นับเป็นคำสารภาพว่าต้องการให้ไต้หวันเป็นเอกราช ถือเป็นนักแบ่งแยกดินแดนที่อันตราย รัฐบาลจีนจำเป็น ต้องตอบโต้และลงโทษพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพี
...
และนำมาซึ่งปฏิบัติการซ้อมรบปิดล้อมเกาะไต้หวัน ที่ทางกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้พูดอย่างชัดเจนว่า เป็นการทดสอบขีดความสามารถของกองทัพในการ “เข้ายึดครอง”.
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม