กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา และองค์การอวกาศยุโรป เป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยพิสูจน์ว่ามีหลุมดำมวลสดยิ่งอยู่ที่ในกลางกาแล็กซีเกือบทุกแห่งในจักรวาล เพราะก่อนหน้าที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจะถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรโลกต่ำในปี 2533 นักดาราศาสตร์ทำได้แค่ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับการมีอยู่ของหลุมดำเท่านั้น

เมื่อเร็วๆนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลก็ทำผลงานมาให้ชม และเก็บเป็นข้อมูลในคลังดาราศาสตร์ หลังจากจ้องมองไปที่กาแล็กซี NGC 4951 ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ห่างจากโลกประมาณ 50 ล้านปีแสง ถูกจัดอยู่ในประเภทกาแล็กซีเซย์เฟิร์ต (Seyfert galaxy) เป็นกาแล็กซีชนิดหนึ่งที่มีพลังมหาศาลและมีนิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์ (Active Galactic Nucleus-AGN) ซึ่ง AGN ถูกขับเคลื่อนโดยหลุมดำมวลยวดยิ่ง นักดาราศาสตร์ระบุว่า ขณะที่สสารหมุนวนเข้าไปในหลุมดำ มันจะสร้างรังสี ทำให้ AGN ส่องสว่างสดใส

ทั้งนี้ การสังเกตการณ์สิ่งต่างๆในกาแล็กซี NGC 4951 นับเป็นข้อมูลอันมีค่าต่อนักดาราศาสตร์ที่กำลังศึกษาว่ากาแล็กซีวิวัฒนาการมาอย่างไร โดยเน้นไปที่กระบวนการก่อตัวดาวฤกษ์เป็นพิเศษ ซึ่งกล้องฮับเบิลรวบรวมข้อมูลนี้และกำลังรวมเข้ากับการสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์.

Credit : NASA, ESA, and D. Thilker (The Johns Hopkins University); Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่