วาฬหลายสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรโลก มีการใช้เสียงในแบบต่างๆ เพื่อสื่อสารอย่างวาฬสเปิร์มหรือวาฬหัวทุย เป็นพวกวาฬมีฟัน ขนาดตัวใหญ่โตและยาวได้ถึง 18 เมตร มันมีสมองใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทุกชนิด ดำน้ำได้ลึก กินปลาหมึกยักษ์และเหยื่ออื่นๆ และสื่อสารด้วยเสียงคลิกดังๆ ที่เรียกว่าโคดา (coda)

ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญสาขาหุ่นยนต์และแมชีน เลิร์นนิง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (เอ็มไอที) ในสหรัฐอเมริกา เผยการวิเคราะห์ใหม่เกี่ยวกับการเปล่งเสียงของวาฬสเปิร์มในทางตะวันออกของทะเลแคริบเบียน โดยระบุว่า วาฬสเปิร์มเป็นสัตว์สังคม มีระบบการสื่อสารที่ซับซ้อน โครงสร้างการสื่อสารประกอบด้วยโฟเนติก อัลฟาเบต (phonetic alphabet) หรือ “สัทอักษร” เป็นระบบตัวอักษรที่จะช่วยให้รู้วิธีการออกเสียงของเสียงต่างๆ หลังจากทีมใช้การวิเคราะห์ทางสถิติแบบดั้งเดิมและปัญญาประดิษฐ์ ในการตรวจสอบเสียงร้องของวาฬประมาณ 60 ตัว บันทึกไว้โดยโครงการวาฬสเปิร์มโดมินิกา (Dominica Sperm Whale Project) เป็นโครงการวิจัยในเครือของมหาวิทยาลัยคาร์ลตันในแคนาดา ที่ได้รวบรวมชุดข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับวาฬสายพันธุ์นี้

นักวิจัยคิดว่า มีแนวโน้มว่าพวกวาฬจะใช้รหัสโคดาเพื่อประสานงานกันเป็นครอบครัว จัดการดูแลวาฬเด็ก หาอาหาร ป้องกันตัว และยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของจำนวน และจังหวะของเปล่งเสียงคลิก ทำให้เกิดโคดาประเภทต่างๆ ซึ่งวาฬยังได้เปลี่ยนระยะเวลาของโคดา และบางครั้งก็เพิ่มการคลิกเพิ่มในช่วงท้ายแบบเดียวกับพวกคำต่อท้ายในภาษามนุษย์.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่