นาซาเผยให้เห็นภาพนาที ดวงอาทิตย์ปล่อยเปลวสุริยะอย่างรุนแรงเจิดจ้าถึง 2 หน ขณะที่ชาวโลกเพิ่งได้เห็นปรากฏการณ์แสงเหนือ หรือออโรรา สีสันสวยงามหลังเกิดพายุสุริยะพุ่งชนโลกรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

เมื่อ 12 พ.ค.2567 หอดูดาว Solar Dynamics ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯ(นาซา) NASA เผยภาพระยะใกล้ นาทีดวงอาทิตย์ปล่อยเปลวสุริยะ หรือ solar flare ซึ่งเป็นการปะทุของรังสีที่กำเนิดจากจุดมืด (Sunspot) บนดวงอาทิตย์ถึงสองครั้ง ซึ่งมีความรุนแรงในระดับ X5.8 และ X1.5 ตามลำดับเมื่อวันที่ 11 และ 12 พ.ค.2567 ตามเวลามาตรฐานกรีนิช  

ตามรายงานของศูนย์พยากรณ์อวกาศ (SWPC) ขององค์การบริหารมหาสมุทร และชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า พลังของเปลวสุริยะเกิดขึ้นเมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 10 พ.ค. จากบริเวณจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า AR3664 บริเวณซีกใต้ของดวงอาทิตย์ และทวีขึ้นถึงจุดพีกสูงสุด เมื่อเวลา 21.23 น.ตามเขตเวลาตะวันออก (หรือ 01.23 น.ของวันที่ 11 พ.ค. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช) ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเปลวสุริยะที่ถูกปลดปล่อยออกมาครั้งนี้มีความรุนแรงระดับ X5.8

...

นาซาเผยแพร่ภาพดวงอาทิตย์ปล่อยเปลวสุริยะ 2 ครั้ง
นาซาเผยแพร่ภาพดวงอาทิตย์ปล่อยเปลวสุริยะ 2 ครั้ง

เจ้าหน้าที่ของ SWPC กล่าวว่า ผลจากการเกิดพายุสุริยะ ในระดับ X5.8 ส่งผลให้คลื่นวิทยุความถี่สูง(HF) ขัดข้องชั่วคราว หรือขัดข้องเป็นเวลานาน อีกทั้ง ต่อมา ยังเกิดพายุสุริยะครั้งที่สอง ระดับความรุนแรงx1.5 เมื่อเวลา 07.44 น. ของเช้าวันที่ 11 ตามเขตเวลาตะวันออก หรือ 11.44 น.ของวันที่ 12 พ.ค. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช

เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ หรือออโรรา ในหลายประเทศ ทางซีกโลกเหนือ หลังพายุสุริยะพุ่งชนโลกครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อ 11 พ.ค.2567
เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ หรือออโรรา ในหลายประเทศ ทางซีกโลกเหนือ หลังพายุสุริยะพุ่งชนโลกครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อ 11 พ.ค.2567

 

ขณะที่นาซาได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า พายุสุริยะที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อสัญญาณวิทยุ โครงข่ายระบบสายส่งกำลังไฟฟ้า สัญญาณนำทาง และมีความเสี่ยงต่อยานอวกาศและนักบินอวกาศด้วย

ทั้งนี้ โลกของเราได้เผชิญกับพายุสุริยะครั้งรุนแรงที่สุดที่พุ่งชนโลกในรอบ 20 ปี เมื่อ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์พายุสุริยะครั้งนี้ ยังได้ก่อให้เกิดแสงเหนือ หรือออโรรา สีสันสดสวยในหลายประเทศทางซีกโลกเหนือด้วย

...

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา NASA ,Space