แอปเปิลได้ออกมาขอโทษ ภายหลังที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อโฆษณาที่แสดงสิ่งของต่างๆ รวมถึงเครื่องดนตรีและหนังสือ ถูกบดขยี้ด้วยเครื่องอัดไฮดรอลิก

แอปเปิลกล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ไปยังสื่อสิ่งพิมพ์ด้านการตลาด Ad Age ว่าโฆษณาดังกล่าวไม่บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถและเฉลิมฉลองให้กับการสร้างสรรค์โฆษณา นายทอร์ มายห์เรน รองประธานฝ่ายสื่อสารการตลาดของแอปเปิล กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เป้าหมายของเราคือการเฉลิมฉลองให้กับวิธีที่ผู้ใช้แสดงออก และนำแนวคิดของตนไปใช้จริงผ่านไอแพดด้วยวิธีการที่หลากหลาย แต่เรากลับเราพลาดเป้าหมายจากโฆษณานี้ และเราขออภัย"

แอปเปิล กล่าวว่า วิดีโอนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ ถูกบีบอัดลงในไอแพด โปร รุ่นล่าสุดอย่างไร ขณะที่บรรดาคนดัง รวมทั้ง ฮิวจ์ แกรนท์ และจัสติน เบทแมน ต่างแสดงปฏิกิริยาในเชิงลบต่อการทำลายล้างที่ปรากฏในโฆษณา

ขณะที่โพสต์ใน X ของทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล เกี่ยวกับไอแพด โปร ซึ่งเขาขอให้ผู้คน "จินตนาการถึงทุกสิ่งที่ไอแพดจะสามารถสร้างสรรค์ได้" ถูกหลายคนตำหนิว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

โฆษณาพยายามแสดงให้เห็นว่าแท็บเล็ตรุ่นล่าสุดของแอปเปิลมีความสามารถอะไรบ้าง เช่น การดูรายการโทรทัศน์ ฟังเพลง และเล่นวิดีโอเกม ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์ใหม่นี้มีความบางเป็นพิเศษ ด้วยการอาศัยรูปแบบธีมวิดีโอการทำลายเครื่องดนตรีที่เคยเผยแพร่เมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นภาพของเครื่องดนตรีถูกบดขยี้ โดยผู้ตำหนิกล่าวว่าโฆษณาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีกำลังขัดขวางความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่จะสนับสนุนมัน

คำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวยังชี้ให้เห็นความกังวลในอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์ ที่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กำลังเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ โดย จัสติน เบทแมน นักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้เอไอในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กล่าวว่าโฆษณาของแอปเปิลกำลัง "บดขยี้ศิลปะ"

...

คริสปิน ฮันต์ นักแต่งเพลงชื่อดัง เรียกการทำลายเครื่องดนตรีว่าทำให้นึกถึงการเผาหนังสือ ขณะที่ความคิดเห็นใต้โพสต์ของทิม คุก อยู่ในเชิงลบ โดยมีคนหนึ่งกล่าวว่า "น่ารังเกียจอย่างยิ่ง" และอีกคนบอกว่าทำให้พวกเขารู้สึก "ละอายใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของ แอปเปิล"

เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ซึ่งบางคนกล่าวว่า "ขาดความเคารพ" เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อที่ว่าของใช้ที่ถูกทิ้งขว้าง ของเก่าที่ถูกเก็บ จะกลายเป็นปิศาจ ซึ่งถูกเรียกรวมๆ กันว่า "ซึคุโมกามิ (Tsukumogami)"

ผู้ใช้ X รายหนึ่งอธิบายว่า "การทำลายสิ่งของถือเป็นการหยิ่งยโสและเป็นการละเมิดต่อชาวญี่ปุ่น" ในขณะที่อีกคนกล่าวว่านักดนตรีเห็นคุณค่าของเครื่องดนตรีของพวกเขา "มากกว่าชีวิต"

วิดีโอดังกล่าวยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับหนึ่งในโฆษณาที่โด่งดังที่สุดของแอปเปิล ซึ่งออกอากาศในปี 2527 โฆษณานี้แสดงให้เห็นนักกีฬาที่ต่อสู้เพื่อต่อต้านโลกอนาคตแบบดิสโทเปีย ผู้ใช้รายหนึ่งกล่าวว่าโฆษณาชิ้นใหม่นี้ "เกือบจะตรงกันข้ามทุกประการ" กับโฆษณาดังกล่าว และอีกรายหนึ่งกล่าวว่าโฆษณาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแอปเปิล "กลายเป็นกองกำลังทำลายล้างวัฒนธรรมที่ไร้รูปแบบที่พวกเขารวมตัวกันต่อต้านในปี 2527".

ที่มา BBC

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign