• บริษัทแอสตราเซเนกา ประกาศเรียกคืนวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากตลาดทั่วโลก ถือเป็นการปิดตำนานวัคซีนแอสตราฯ ที่เคยช่วยชาวโลกต่อสู้กับโรคระบาดอุบัติใหม่ โควิด-19 มานานกว่า 3 ปี
  • แอสตราฯ ระบุในแถลงการณ์ด้วยความภาคภูมิใจว่า จากการประมาณการณ์อย่างอิสระ วัคซีนแอสตราฯ สามารถช่วยชีวิตให้ผู้คนรอดตายจากโควิดได้มากกว่า 6.5 ล้านคน ในเวลาเพียงปีเดียว ขณะที่ได้จัดส่งมอบวัคซีนแอสตราฯ ให้แก่นานาประเทศกว่า 3 พันล้านโดส ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก
  • วัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกา นับเป็นวัคซีนรุ่นที่สอง ต่อจากวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม จากจีน แต่สุดท้าย ไม่ได้ไปต่อ เมื่อมีวัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา เข้ามาเป็นวัคซีนในรุ่นที่ 3 ต่อกรสู้กับโควิดที่พัฒนากลายพันธ์ุอย่างต่อเนื่อง

แล้วในที่สุด บริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติสวีเดน-อังกฤษ ได้ประกาศ เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567 เรียกคืนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ออกจากตลาดทั่วโลกแล้ว ซึ่งถือเป็นการปิดฉากวัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกา ที่ชาวโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี 

ทำไมบริษัทแอสตราเซเนกา จึงตัดสินใจยุติการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลังจากได้พัฒนา และผ่านการอนุมัติฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศทั่วโลกได้ใช้มานานกว่า 3 ปี?

ไทยรัฐออนไลน์ ขอไล่เลียงประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการวัคซีนที่ถูกพัฒนา ผลิตออกอย่างเร่งด่วน ในการนำมาใช้ต่อสู้ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ซึ่งเราไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน อย่างโรคโควิด-19 

...

วัคซีนโควิด-19 รุ่นที่สอง 

ภายหลังโรคโควิด-19 เกิดการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ตั้งแต่ปลายปี 2562 ทำใหันักวิทย์และบริษัทเวชภัณฑ์ทั่วโลกเร่งผลิตวัคซีนเพื่อหวังนำมาต่อสู้บรรเทาความรุนแรงจากโรคติดต่อมรณะโควิด-19 ก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตสูง 

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา นับเป็นวัคซีนในรุ่นที่สอง ที่ใช้เทคนิคในการผลิตวัคซีนที่เรียกว่า 'ไวรัลเวกเตอร์' (Viral Vector) ต่อจากวัคซีนโควิดที่ผลิตจากเชื้อตาย ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มของจีน ซึ่งเป็นการผลิตวัคซีนโดยใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม  

บริษัทแอสตราเซเนกา ระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกา คิดค้นโดยทีมของศาสตราจารย์แอนดี้ พอลลาร์ด และศาสตราจารย์ซาราห์ กิลเบิร์ต ที่ศูนย์วัคซีนออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ถูกตั้งชื่อว่า 'Vaxzevria' (แวกเซฟเรีย) (แต่เราคุ้นในชื่อเรียกว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา หรือคนไทยจะเรียกสั้นๆ ว่าวัคซีนแอสตราฯ มากกว่า) 

วัคซีนโควิดของแอสตราฯ หรือวัคซีน AZ พัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนที่ผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัส ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้

หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว เซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 กรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

เคย 'ต่อกร' สู้โควิดในยุคสายพันธุ์เบตา เดลตา

บริษัทแอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) เคยออกแถลงการณ์ในเดือนสิงหาคม 2564 ไว้ว่า ผลการศึกษาจากเครือข่ายการวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของแคนาดา (Canadian Immunization Research Network-CIRN) แสดงให้เห็นว่า Vaxzevria หรือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา 1 โดส มีประสิทธิผลสูงถึง 82% ช่วยลดการเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดโควิด-19 สายพันธุ์เบตา/แกมมา

...

นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2 หรือสายพันธุ์อินเดีย) และสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ) โดยช่วยลดอาการป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออัตราการเสียชีวิตได้ถึง 87% และ 90% ตามลำดับ

ประกาศปิดตำนานวัคซีนโควิด แอสตราฯ

ในช่วงที่โควิดกำลังระบาดรุนแรงในช่วงปี 2563-2565 วัคซีนแอสตราเซเนกา หรือวัคซีน AZ ถือเป็นวัคซีนราคาถูก และยังสามารถจัดเก็บและขนส่งง่าย ไม่ยุ่งยาก เมื่อเทียบกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่ออกมาเป็นวัคซีนรุ่นที่ 3

ส่วนสถานการณ์โควิดในขณะนี้ ซึ่งระบาดหนักทั่วโลกในช่วงปี 2563-2565 ได้ทุเลาลงและยังคงพบการระบาดเป็นระลอกๆ ตามรายงานของเว็บไซต์ worldometer ซึ่งติดตามอัปเดตยอดผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 จนถึง 13 เม.ย.2567 แจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ 7.01 ล้านศพ และป่วยเข้าโรงพยาบาล 704 ล้านราย

นายไบรอัน พิงเกอร์ ชายสูงอายุชาวอังกฤษ วัย 82 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นคนแรก
นายไบรอัน พิงเกอร์ ชายสูงอายุชาวอังกฤษ วัย 82 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นคนแรก

...

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นายไบรอัน พิงเกอร์ (Brian Pinker) ชายสูงอายุชาวอังกฤษ วัย 82 ปี ได้รับการบันทึกว่าเป็นบุคคลที่ตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตราฯ เป็นคนแรกนั้น เมื่อเวลาผ่านมาเกือบ 3 ปีครึ่ง ในที่สุด ทางบริษัทแอสตราเซเนกา ได้ออกแถลงการณ์เรียกคืนวัคซีน AZ  อีกทั้งจะยุติการผลิตและจะไม่จัดส่งวัคซีนแอสตราฯ อีกต่อไป ด้วยเหตุผลเชิงพาณิชย์

โดยบริษัทแอสตราเซเนกา ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับไวรัสโควิดกลายพันธุ์หลายชนิด จนมีวัคซีนมากเกินความต้องการ ทำให้วัคซีน Vaxzevria ซึ่งพัฒนาโดยแอสตราเซเนกา มีความต้องการน้อยลง และทางบริษัทตัดสินใจที่จะไม่ผลิตหรือส่งมอบวัคซีนโควิดชนิดนี้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า บริษัทแอสตราฯ จะประกาศเรียกคืนวัคซีนโควิดนั้น ทางบริษัทได้ออกมายอมรับครั้งแรกในเอกสารของศาลฉบับหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทางบริษัทอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่หาได้ยาก ซึ่งรวมถึงภาวะลิ่มเลือดด้วย

ก่อนหน้านี้ บริษัทแอสตราเซเนกาได้เริ่มกระบวนการขอถอนใบอนุญาตทางการตลาดของวัคซีนโควิด Vaxzevria ในยุโรปแล้ว โดยมีผลในวันที่ 7 พ.ค.2567 หลังจากได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้วัคซีน Vaxzevria ไม่สามารถจำหน่าย และใช้ในสหภาพยุโรปได้อีกต่อไป อีกทั้งจากนี้ บริษัทแอสตราเซเนกาจะทยอยถอนใบอนุญาตวัคซีนโควิดในทุกประเทศ

ขณะที่บริษัทแอสตราเซเนกา ได้ระบุในแถลงการณ์เรียกคืนวัคซีนโควิดของแอสตราฯ จากทั่วโลก ด้วยว่าทางบริษัทมีความภาคภูมิใจที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนในประเทศทั่วเอเชียและลาตินอเมริกาได้เป็นจำนวนมากกว่า 6.5 ล้านคนเฉพาะในปี 2564 เพียงปีเดียว ในขณะที่ประเทศร่ำรวยแล้วสามารถจัดหาวัคซีน mRNA ที่มีราคาแพงกว่า 

...

'ตามการประมาณการณ์ที่เป็นอิสระ วัคซีนแอสตราฯ สามารถช่วยชีวิตผู้คนในปีแรกเพียงปีเดียว (2564) ได้กว่า  6.5 ล้านคน และได้มีการส่งมอบวัคซีนให้แก่นานาประเทศทั่วโลกกว่า 3 พันล้านโดส

ความพยายามของเราได้รับการยอมรับจากรัฐบาลทั่วโลกและได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการยุติการระบาดของโรคโควิดทั่วโลก' บริษัทแอสตราเซเนการะบุในแถลงการณ์เรียกคืนวัคซีนโควิด และยุติการผลิตวัคซีนโควิดของแอสตราฯ 

ถือเป็นการปิดตำนานการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิดของบริษัทแอสตราฯ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชาวโลกจำนวนมากก็ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวโรคโควิด-19 กันอีกต่อไป ขณะที่รัฐบาลนานาประเทศพากันหันไปใช้วัคซีน mRNA ที่ต่อสู้กับเชื้อโควิดที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องได้ดีมากกว่า และอัตราการเสียชีวิตจากโควิดได้ลดต่ำลง เพราะชาวโลกส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดกันแล้ว

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : metro ,TheGuardianastrazeneca