ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงมีคำตัดสินอนุญาตให้รัฐบาลแบนเพลง "Glory to Hong Kong" ของกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการพลิกคำตัดสินในปีที่แล้ว

ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงได้อนุมัติคำร้องขอของรัฐบาลให้สั่งห้ามเพลงประท้วงที่มีชื่อว่า "กลอรี ทู ฮ่องกง" (Glory to Hong Kong) ซึ่งเป็นการพลิกคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธการสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากอาจเกิด "ผลกระทบที่น่าตกใจ" ต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสิ่งที่นักวิจารณ์กล่าวว่าเป็นการบ่อนทำลายหลักนิติธรรมและสิทธิส่วนบุคคลของฮ่องกง ท่ามกลางการปราบปรามด้านความมั่นคงของรัฐบาลจีน ซึ่งทำให้ผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากถูกจำคุกและปิดสื่อเสรีนิยม

คดีนี้มีผลกระทบต่อเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตและการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต (ไอพีโอ) และบริษัทเทคโนโลยี เช่น กูเกิล

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เจเรมี พูน, คาร์ไลย์ ชู และแอนเธีย ปัง ระบุว่าผู้แต่งเพลงประท้วงตั้งใจที่จะใช้เพลงนี้เป็นอาวุธ เมื่ออยู่ในมือของผู้ที่มีเจตนายุยงให้เกิดการแยกตัวและการปลุกปั่น เพลงนี้สามารถนำมาใช้เพื่อปลุกปั่นความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลได้ ผู้พิพากษาเสริมว่า "จำเป็นต้องมีคำสั่งห้ามเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ลบวิดีโอที่มีปัญหาเกี่ยวกับเพลงออกจากแพลตฟอร์มของพวกเขา

นายหลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวในการแถลงข่าวว่า การป้องกันไม่ให้ใครก็ตามใช้หรือเผยแพร่เพลงที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นมาตรการที่ถูกต้องตามกฎหมายและจำเป็นของฮ่องกง เพื่อบรรลุความรับผิดชอบในการปกป้องความมั่นคงของชาติ

รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมฮ่องกง กล่าวว่า รัฐบาลจะแจ้งต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง เพื่อร้องขอหรือเรียกร้องให้พวกเขาลบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องตามคำสั่งห้ามดังกล่าว

...

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามสิทธิในฮ่องกง นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าการสั่งห้ามดังกล่าวถือเป็นความเสียหายต่อชื่อเสียงระดับโลกของฮ่องกง ซึ่งก่อนหน้านี้มีระบบตุลาการที่เป็นอิสระ ปกป้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด และการค้าอย่างเสรี

ฮ่องกง ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษกลับคืนสู่การปกครองของจีนในปี 2540 พร้อมหลักประกันว่าเสรีภาพจะถูกรักษาไว้ภายใต้ระบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ฮ่องกงไม่มีเพลงชาติเป็นของตัวเอง แต่เพลง "กลอรี ทู ฮ่องกง" เขียนขึ้นในปี 2562 ในช่วงการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในปีนั้น และถือเป็นเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ใช่เพลง "มาร์ชทหารอาสา" (March of the Volunteers) ซึ่งเป็นเพลงชาติของจีน

คำตัดสินของศาลมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่ออกอากาศหรือเผยแพร่เพลง โดยมีเจตนาปลุกปั่นให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการแบ่งแยกดินแดน หรือต้องการชี้ว่าฮ่องกงเป็นรัฐเอกราช หรือผู้ที่ดูหมิ่นเพลงชาติ ผู้พิพากษากล่าวเสริมว่า จะมีการยกเว้นเฉพาะกิจกรรมทางวิชาการและสื่อสารมวลชนที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

รัฐบาลฮ่องกงยื่นอุทธรณ์หลังจากผู้พิพากษาศาลสูง แอนโธนี ชาน ปฏิเสธที่จะสั่งห้ามเพลงประท้วงเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยกล่าวว่าอาจบ่อนทำลายเสรีภาพในการแสดงออกและก่อให้เกิดผลกระทบที่น่าสะพรึงกลัว

รัฐบาลได้ยื่นขอคำสั่งห้ามเพลงดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังจากเพลงดังกล่าวถูกใช้เป็นเพลงชาติในการแข่งขันระดับนานาชาติหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงเกม "รักบี้ เซเวนส์" และการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็ง

กูเกิลกล่าวว่ากำลังทบทวนคำตัดสิน ก่อนหน้านี้กูเกิลเคยกล่าวไว้ว่าจะไม่เปลี่ยนผลการค้นหาเพื่อแสดงเพลงชาติของจีน แทนที่จะเป็นเพลงประท้วง เมื่อผู้ใช้ค้นหาเพลงชาติของฮ่องกง

เพลงนี้ถูกแบนในสถาบันการศึกษาของฮ่องกง หลังจากที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2563 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการฮ่องกงได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงอีกชุดหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศบางแห่งกล่าวว่ายิ่งเป็นการบ่อนทำลายสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก แต่รัฐบาลจีนปักกิ่งปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว และกล่าวว่ากฎหมายความมั่นคงได้นำมาซึ่งเสถียรภาพ.

ที่มา Reuters

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign