เมื่อวันที่ 8 พ.ค.สำนักข่าวต่างประเทศเกาะติดการเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกในรอบ 5 ปี ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน หลังออกเดินทางจากฝรั่งเศสถึงกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบีย หุ้นส่วนสำคัญที่สุดของจีนในคาบสมุทรบอลข่าน โดยนายอเล็กซานดาร์ วูซิช ประธานาธิบดีเซอร์เบียให้การต้อนรับด้วยตนเองที่สนามบินเบลเกรด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 25 ปี ของเหตุสลดเครื่องบินรบกองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดโจมตีสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด คร่าชีวิตนักข่าวชาวจีน 3 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 20 คน
ทั้งนี้ ผู้นำทั้ง 2 ชาติจัดการประชุมข้อตกลงทางการค้าและการลงทุน รวมถึงหารือเรื่องโครงการเทคโนโลยีขั้นสูงในวันที่ 8 พ.ค. ต่อยอดหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเปิดประตูสำหรับบริษัทเซอร์เบียเข้าสู่ตลาดจีนอันกว้างใหญ่ที่จะมีผลตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้ โดยผู้นำจีนกล่าวก่อนเริ่มต้นการประชุมว่าประทับใจอย่างยิ่งกับมิตรภาพที่จริงใจของชาวเซอร์เบียที่มองว่าจีนเป็นเพื่อนแท้ ก่อนที่ผู้นำจีนออกเดินทางต่อไปยังจุดหมายสุดท้ายของทริปนี้ที่กรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการีในช่วงเย็น
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานความคิดเห็นของแหล่งข่าวทางการทูตในยุโรปหลังผู้นำจีนเสร็จสิ้นการเยือนฝรั่งเศส โดยมองว่าผู้นำจีนคือผู้ชนะอย่างแท้จริงในการเยือนยุโรปครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของสี ในฐานะ “ผู้นำของโลก” ที่บรรดาผู้นำชาติตะวันตกต่างร้องขอให้ช่วยแก้ไขวิกฤติในยูเครน ขณะที่ข้อพิพาทการค้าที่สหภาพยุโรปมองว่าไม่สมดุล มีเพียงการทำข้อตกลงให้ความร่วมมือหรือต่ออายุข้อผูกพันเป็นส่วนใหญ่ และมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมเฉพาะสินค้าเกษตรเท่านั้น ที่จีนอนุญาตให้นำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรจากฝรั่งเศสให้มีผลทันที คาดว่าจะกระตุ้นการส่งออกเนื้อหมูได้ 10%
...
ด้านสถานีโทรทัศน์อาร์แตของรัสเซียวิเคราะห์ว่า การทัวร์ยุโรปของผู้นำจีนครั้งนี้ถูกวางแผนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในช่วงที่นางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป พยายามกระตุ้นให้สหภาพยุโรปต่อต้านจีน เช่นเริ่มการสอบสวนผลิตภัณฑ์ของจีนบ่อยครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่จีนต้องการรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในและรอบๆสหภาพยุโรป ด้วยการทุ่มเทใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศที่พิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มค่า ซึ่งฝรั่งเศสมีท่าทีไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ขณะที่ฮังการีไม่นิยมชมชอบชาติตะวันตกและหนุนจีน เช่นเดียวกับเซอร์เบียที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่