เกษตรกรรมเกิดขึ้นช่วง 11,500 ปีที่แล้วในตะวันออกกลางเป็นเหตุการณ์สำคัญของมนุษยชาติ เนื่องจากการปฏิวัติด้านอาหารและวิถีชีวิตได้ก้าวไปไกลกว่าวิถีนักล่าสัตว์และเก็บของป่า เช่น กลุ่มมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 300,000 กว่าปีก่อนในแอฟริกาที่เป็นบรรพบุรุษมนุษย์เรา

ทว่าการขาดหลักฐานที่สมบูรณ์ของซากศพมนุษย์ในช่วงก่อนจุดเปลี่ยนผ่านที่นักล่าสัตว์และเก็บของป่าจะหันมาทำเกษตรกรรม ทำให้อาหารที่มนุษย์พวกนี้กินก่อนจะมาทำเกษตรกรรมกลายเป็นเรื่องลึกลับ แต่ล่าสุดนักโบราณคดีจากสถาบันมักซ์พลังค์ ด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ในเยอรมนี เผยผลวิจัยใหม่ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกถึงการกินอาหารของมนุษย์โบราณ หลังจากจำลองแนวทางปฏิบัติด้านอาหารของคนในวัฒนธรรมไอบีโรมอรูเชียน (Iberomaurusian) ในแอฟริกาเหนือขึ้นใหม่ โดยตรวจสอบร่องรอยทางเคมีในกระดูกและฟันจากซากศพมนุษย์ 7 คน อายุประมาณ 15,000 ปี ที่พบในถ้ำนอกหมู่บ้านทาโฟรัลต์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโมร็อกโก เมื่อวิเคราะห์รูปแบบหรือไอโซโทปของธาตุต่างๆ เช่น คาร์บอน ไนโตรเจน สังกะสี ซัลเฟอร์ และสตรอนเทียมในซากฟันและกระดูก ก็ระบุประเภทและปริมาณของพืชและเนื้อสัตว์ที่พวกเขากิน พบว่าเป็นพืชป่าหลายชนิด เช่น ลูกเอคอร์นหวาน ถั่วเม็ดสน พิสตาชิโอ ข้าวโอ๊ต และพืชตระกูลถั่วที่มีลักษณะเป็นฝัก ส่วนสัตว์ที่กินก็คือแกะภูเขา

การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าประชากรจำนวนมากในโลกอาจเริ่มด้วยการนำพืชจำนวนมากมาไว้ในอาหารการกินในช่วงก่อนที่การเกษตรจะได้รับการพัฒนา ขณะที่ชาวไอบีโรมอรูเชียนเป็นนักล่าหาของป่า ได้รวบรวมสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บางส่วนของโมร็อกโกและลิเบียเมื่อประมาณ 25,000-11,000 ปีก่อน และซากเหล่านี้บ่งชี้ว่าถ้ำที่พวกเขาอยู่อาศัย นอกจากจะเป็นนิวาสสถานแล้วยังเป็นสถานที่ฝังศพของพวกเขาด้วย.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่