KFC ร้านไก่ทอดชื่อดัง กว่า 100 สาขาในมาเลเซียถูกปิดชั่วคราว ท่ามกลางกระแสการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งในฉนวนกาซา

หนังสือพิมพ์หนานหยางซางเป้า ของมาเลเซีย รายงานว่าร้าน 108 แห่งหยุดดำเนินการแล้ว โดยร้านในรัฐกลันตันได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยร้านค้าเกือบ 80% หรือร้านค้ามากถึง 21 แห่งได้รับผลกระทบ

ตามรายงานจากข้อมูลของกูเกิล แมปส์ ร้าน 15 แห่งในยะโฮร์ก็ปิดชั่วคราวเช่นกัน เช่นเดียวกับร้าน 11 แห่งในรัฐสลังงอร์และเกดะห์, รัฐตรังกานู 10 ร้าน, รัฐปะหัง 9 ร้าน, รัฐเปรัก 9 ร้าน, รัฐเนกรีเซมบีลัน 6 ร้าน, รัฐเปอร์ลิส 2 ร้าน, รัฐมะละกา 2 ร้าน, รัฐปีนัง 5 ร้าน, กรุงกัวลาลัมเปอร์ 3 ร้าน, รัฐซาราวัก 2 ร้าน และ 1 ร้านในรัฐซาบาห์

บริษัท คิวเอสอาร์ แบรนด์ส (QSR Brands) ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการร้าน KFC ทั่วประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และกัมพูชา กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย บริษัทได้ใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อปิดสาขาชั่วคราวเพื่อจัดการต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นไปที่เขตการค้าที่มียอดขายสูง

ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน บริษัทกล่าวว่า พนักงานจากร้านที่ได้รับผลกระทบได้รับโอกาสย้ายไปยังร้านซึ่งมีลูกค้าหนาแน่น "ในฐานะบริษัทที่ให้บริการชาวมาเลเซียมานานกว่า 50 ปี เป้าหมายยังคงอยู่ที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้า ขณะเดียวกันก็มีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมาเลเซียผ่านการรักษาความปลอดภัยของงานสำหรับพนักงาน 18,000 คนในมาเลเซีย ซึ่งประมาณร้อยละ 85 เป็นชาวมุสลิม" อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้เปิดเผยจำนวนร้านค้าหรือจำนวนคนงานที่ได้รับผลกระทบ

ตามเว็บไซต์ QSR มีร้าน KFC มากกว่า 600 แห่งในมาเลเซีย โดยร้านแรกเปิดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในปี 2516

...

ตามรายงานของสื่อหลายฉบับ ก็มีการปิดร้านแมคโดนัลด์และสตาร์บัคส์หลายแห่งในมาเลเซียด้วย เครือข่ายร้านเหล่านี้ประสบปัญหาการชะลอตัวของธุรกิจอันเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อมโยงกับจุดยืนของสหรัฐฯ ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ด้านกลุ่ม Boycott, Divestment, Sanctions Malaysia กล่าวในสื่อมาเลเซียว่า "KFC ไม่ได้อยู่ในรายชื่อบริษัทเป้าหมายของกลุ่ม แต่ชาวมาเลเซียจำนวนมากมองว่าผู้ประกอบการฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกันมีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอล ซึ่งรวมถึง KFC"

นายวินเซนต์ แทน ผู้ก่อตั้งเบอร์จายา คอร์ป ซึ่งบริหารสตาร์บัคส์ เรียกร้องให้สาธารณชนหยุดคว่ำบาตรร้านกาแฟแห่งนี้เมื่อเดือนมีนาคม โดยกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับคนในท้องถิ่นที่บริหารร้าน เขากล่าวว่า พนักงานของสตาร์บัคส์ในมาเลเซีย ร้อยละ 85 เป็นชาวมุสลิม และไม่มีชาวต่างชาติทำงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท

มาเลเซียและอินโดนีเซีย ต่างออกมาประณามอิสราเอลสำหรับความโหดร้ายในฉนวนกาซาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 34,000 คน เพื่อตอบโต้การโจมตีข้ามพรมแดนของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่แล้ว.

ที่มา CNA

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign