ติ๊กต่อก (TikTok) กล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลังสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เตรียมแบนแอปพลิเคชันติ๊กต่อก หากบริษัทแม่ในประเทศจีน ไม่ขายกิจการให้กับบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ภายในปีนี้

สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ลงมติ 360 เสียงต่อ 58 เสียง ผ่านร่างกฎหมายที่ระบุให้บริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในประเทศจีน ต้องขายกิจการของสื่อโซเชียลมีเดีย "ติ๊กต่อก" ให้กับบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ภายใน 270 วัน หรือ 9 เดือน โดยหากไม่ดำเนินการตามนี้ แพลตฟอร์มติ๊กต่อก จะถูกแบนออกจากแอปสโตร์ของผู้ใช้บริการในสหรัฐฯ ซึ่งมีมากถึง 170 ล้านคน

สมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ ทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต และฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า ติ๊กต่อกก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ เนื่องจากรัฐบาลจีนสามารถบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ 170 ล้านคนในสหรัฐฯ ได้

ติ๊กต่อกกล่าวในแถลงการณ์ว่า "น่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรฯ อาศัยความสำคัญของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในต่างประเทศเพื่อเบี่ยงเบนร่างกฎหมายที่จะเหยียบย่ำเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน"

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ติ๊กต่อกได้วิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา โดยกล่าวว่ามันจะ "ปิดหูปิดตาชาวอเมริกันหลายล้านคน" ติ๊กต่อกยังได้โต้แย้งในทำนองเดียวกันว่าการสั่งแบนติ๊กต่อกในรัฐมอนทานาเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นการละเมิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 1

สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน แสดงการคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการพูด ขณะที่ติ๊กต่อกยืนยันว่าไม่เคยเปิดเผยข้อมูลของสหรัฐฯ และจะไม่มีวันเปิดเผย

...

มาร์ก วอร์เนอร์ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต และประธานคณะกรรมการข่าวกรองของวุฒิสภา กล่าวว่า รัฐบาลจีนสามารถใช้ติ๊กต่อกเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยตั้งข้อสังเกตว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากใช้ติ๊กต่อกเพื่อรับข่าวสาร "ความคิดที่ว่าเราจะมอบเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อนี้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับความสามารถในการเก็บข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน ถือเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ"

สถาบัน Knight First Amendment Institute แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มเสรีภาพในการพูด กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้อาจไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง เนื่องจากจีนและศัตรูของสหรัฐฯ ยังคงสามารถซื้อข้อมูลของชาวอเมริกันจากนายหน้าในตลาดเปิด และมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อบิดเบือนข้อมูล โดยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในสหรัฐฯ

สมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนยังได้หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดต่อการแบนติ๊กต่อกครั้งนี้ และร้องขอให้มีการออกกฎหมายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่เข้มงวดยิ่งขึ้นแทน

สภาผู้แทนราษฎรฯ ลงมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ให้ไบต์แดนซ์ต้องขายกิจการภายใน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจะถูกแบน ส่วนกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อวันเสาร์ ที่กำหนดเส้นตายไว้ 9 เดือน อาจขยายออกไปได้อีก 3 เดือน หากประธานาธิบดีต้องพิจารณาความคืบหน้าในการขายกิจการ

ประเด็นเรื่องติ๊กต่อกยังเป็นหัวข้อการสนทนาระหว่างนายไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อต้นเดือนนี้ โดยไบเดนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของของแอปฯ.

ที่มา Reuters

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign