หลุมดำเป็นวัตถุที่มีความหนาแน่นเป็นพิเศษ มีแรงโน้มถ่วงแรงมากจนแม้แต่แสงก็ไม่อาจเล็ดลอดออกไปได้ ทำให้ยากต่อการมองเห็นพวกมัน แต่เครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยของมนุษย์ก็สามารถเอาชนะ ทำให้เราได้รู้ว่ามีหลุมดำอยู่ที่ไหนบ้างในจักรวาลโดยเฉพาะใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเอง ก็ถูกระบุว่ามีหลุมดำมวลยวดยิ่ง (supermassive black holes) ที่ชื่อซาจิทาเรียส เอ สตาร์ (Sagittarius A* หรือ Sgr A*) อาศัยอยู่ โดยหลุมดำยักษ์นี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 4 ล้านเท่า อยู่ห่างจากโลกประมาณ 26,000 ปีแสง

แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยวิศวกรจากศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส ที่ทำงานในหอดูดาวปารีส ได้สังเกตการณ์ในภารกิจยานอวกาศไกอา (Gaia) ขององค์การอวกาศยุโรป ร่วมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วีแอลทีขนาดใหญ่มาก ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป และหอดูดาวภาคพื้นดินอื่นๆ รายงานการค้นพบหลุมดำดาวฤกษ์ (stellar black hole) ที่ใหญ่ที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก ได้รับการตั้งชื่อว่า Gaia BH3 มีมวล 33 เท่าของดวงอาทิตย์ ทีมเผยว่า Gaia BH3 ถูกค้นพบโดยบังเอิญในกลุ่มดาวนกอินทรี และหลุมดำขนาดมหึมานี้ก่อตัวขึ้นภายหลังการระเบิดของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกเพียง 2,000 ปีแสง

...

ทีมวิจัยระบุว่า Gaia BH3 เป็นหลุมดำอาจก่อตัวขึ้นหลังจากการตายของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่า 40 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ หลุมดำเกิดจากการยุบตัวของดาวฤกษ์ดวงเดียวจึงถูกเรียกว่าหลุมดำดาวฤกษ์ และยังเป็นหลุมดำที่ใกล้เราที่สุดเป็นอันดับ 2 เท่าที่มีการค้นพบมาจนถึงปัจจุบันนี้.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่