- ชาวหมู่เกาะโซโลมอนออกเดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแห่งชาติแล้ว เมื่อวันพุธที่ 17 เม.ย. 2567 ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก
- หมู่เกาะโซโลมอนเพิ่งเปลี่ยนข้าง ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วหันเข้าหาจีนมากขึ้น สร้างความกังวลให้สหรัฐฯ และเพื่อนบ้านอย่าง ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคสำคัญแห่งนี้
- ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงอาจเป็นตัวตัดสินความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ในขณะที่ชาวบ้านท้องถิ่นให้ความสนใจกับปัญหาใกล้ตัวและเรื่องปากท้องมากกว่า
เมื่อวันพุธที่ 17 เม.ย. 2567 ชาวหมู่เกาะโซโลมอนออกเดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากประเทศของพวกเขาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วหันไปสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่แทน
สำหรับชาวหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งมีจำนวนกว่า 700,000 คน การเลือกตั้งครั้งนี้คือโอกาสที่พวกเขาจะได้เลือกคณะบริหารชุดถัดไปเข้ามาบริหาร เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เนื่องจากประชากรราว 80% ของประเทศที่อาศัยอยู่นอกกรุงโฮนีอารา ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานอย่าง ไฟฟ้า, การแพทย์, โรงเรียน และการขนส่งได้
แต่สำหรับหมู่เกาะโซโลมอน การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นตัวตัดสินความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับจีน และสหรัฐฯ กับพันธมิตรอย่างออสเตรเลีย ซึ่งกำลังแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคสำคัญแห่งนี้
...
ทำไมการเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญ?
นี่เป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกของหมู่เกาะโซโลมอน นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี มานาสเซห์ โซกาวาเร ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายทางการทูตของประเทศทันทีที่รับตำแหน่งในปี 2562 โดยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วหันไปสนับสนุนนโยบายจีนเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่
ดร.เมก คีน ผู้อำนวยการโครงการหมู่เกาะแปซิฟิก จากคณะวิจัย ‘Lowy Institute’ ในออสเตรเลีย วิเคราะห์ว่า เหตุผลที่โลกจับตาการเลือกตั้งของหมู่เกาะโซโลมอน เป็นเพราะการย้ายฝั่งเข้าหาจีน และนโยบาย ‘มุ่งขึ้นเหนือ’ (Look North) ของนายกรัฐมนตรี โซกาวาเร ซึ่งจะเปิดประตูต้องรับจีน และเพิ่มการเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคมากขึ้น
หมู่เกาะโซโลมอนตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทะเลสายสำคัญหลายสายระหว่างสหรัฐฯ กับออสเตรเลีย ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญมาก หากความขัดแย้งปะทุขึ้นในทะเลจีนใต้
ออสเตรเลียพยายามรักษาความสัมพันธ์กับหมู่เกาะโซโลมอนในฐานะหุ้นส่วนด้านการพัฒนาและความมั่นคงมาตลอด ขณะที่จีนต้องการการสนับสนุนนโยบายจีนเดียวของจากหมู่เกาะโซโลมอน และต้องการเปิดประตูเข้าสู่ทรัพย์สินและทรัพยากรล้ำค่าอย่าง การประมง และเหมืองแร่ในภูมิภาคนี้
ส่วนสหรัฐฯ ก็พยายามเข้าหาหมู่เกาะโซโลมอนอีกครั้ง ตั้งแต่เข้ามาลงทุนโครงการพัฒนาต่างๆ ไปจนถึงการตั้งสถานทูตของพวกเขาในกรุงโฮนีอารา
สถานการณ์นี้ทำให้หมู่เกาะโซโลมอนตกที่นั่งลำบาก ดร.คีน กล่าว “โซโลมอนกำลังพยายามรักษาสมดุลของโอกาสที่หลากหลาย กับคำมั่นสัญญาเรื่องการปกครองระบบประชาธิปไตย, การเปิดกว้าง, เสรีภาพสื่อ และ องค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญต่อประชาชนของพวกเขา”
การเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจถูกมองเป็นการลงคะแนนเสียงประชามติ ว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี โซกาวาเร หรือไม่
ผู้สมัครเลือกตั้งมีใครบ้าง?
คนแรกแน่นอนว่าคือ นายโซกาวาเร ซึ่งลงสมัครในฐานะหัวหน้าพรรค ‘ความรับผิดชอบ, ความสามัคคี และความเป็นเจ้าของ’ (Ownership, Unity and Responsibility Party) และเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 สมัย
ดร.เทส นิวตัน เคน จากสถาบัน ‘กริฟฟิธ เอเชีย’ (Griffith Asia Institute) ระบุว่า นายโซกาวาเรเป็นตัวละครทางการเมืองที่ถูกสร้างมาอย่างดี เขาเพิ่งดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4 เสร็จสิ้น และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ
โซกาวาเรลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงลับกับจีนไปเมื่อ 2 ปีก่อน สร้างความตกตะลึงแก่สหรัฐฯ และออสเตรเลียอย่างมาก และยิ่งทำให้ความไม่สบายใจเรื่องการขยายอิทธิพลของจีนในแปซิฟิกรุนแรงขึ้นไปอีก แต่เขาปฏิเสธข่าวลือที่ว่า จะอนุญาตให้จีนมาตั้งฐานทัพในประเทศของเขา
ประชาชนบางกลุ่มพอใจในผลงานของเขา ทั้งการตกลงเพิ่มความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงกับจีนเมื่อปีก่อน และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ‘แปซิฟิก เกม’ ขณะที่บางส่วนก็ไม่พอใจ โดยกล่าวหารัฐบาลของโซกาวาเรว่า ไม่ได้ลงมือทำมากพอในการช่วยเหลือพวกเขาต่อสู้กับค่าครองชีพที่พุ่งสูง
ผู้ที่ขวางทางนายโซกาวาเรจากการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 คือ นายปีเตอร์ เคนโลเรอา จูเนียร์ ผู้แทนจากพรรคฝ่ายค้าน ‘United Party’ และอดีตเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ ผู้ประกาศกร้าวว่า จะยกเลิกข้อตกลงความมั่นคงกับจีน และหวังจะสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับชาติตะวันตกมากขึ้น
ส่วนผู้นำฝ่ายค้านอย่าง นายแมทธิว เวล จากพรรคประชาธิปไตยหมู่เกาะโซโลมอน (Solomon Islands Democratic Party) จับมือกับกลุ่มฝ่ายอื่นๆ ตั้งพรรคพันธมิตรประชาธิปไตย (Democratic Alliance Party) ขึ้นมาก โดยสัญญาว่า หากชนะเลือกตั้งจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาและการแพทย์ รวมถึงพัฒนานโยบายต่างประเทศ มุ่งเน้นประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
ดร.คีน ระบุว่า ผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ เหล่านี้ กำลังรู้สึกว่าพวกเขาควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องปัญหาด้านการพัฒนา และการเข้าถึงบริการ มากกว่าปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และพวกเขากังวลว่า ความสัมพันธ์กับจีนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จะส่งผลต่อความโปร่งใสของรัฐบาล และเกิดปัญหาเกี่ยวกับอธิปไตยได้
...
หวั่นเกิดความรุนแรงหลังเลือกตั้ง
การเลือกตั้งของหมู่เกาะโซโลมอนถูกมองว่าเป็นการลงคะแนนเสียงที่มีความท้าทายมากที่สุดในโลก โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 420,000 คน ต้องเดินทางไปใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้ง 1,200 แห่ง ที่กระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ กว่า 900 เกาะทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 16.00 น. วันที่ 17 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อเลือกคณะบริหารชุดใหม่ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติชุดใหม่ 50 คน จะเป็นผู้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่กระบวนการนี้อาจกินเวลานานหลายสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างกว้างขวาง แคนดิเดตนักการเมืองพยายามติดสินบนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งแจกเงิน จนถึงกระสอบข้าวและแผงโซลาร์เซลล์ จนคณะกรรมการการเลือกตั้งของหมู่เกาะโซโลมอน ต้องออกมาเรียกร้องให้ประชาชน อย่าบอกคนอื่นว่าตัวเองลงคะแนนให้ใคร และหลีกเลี่ยงจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
ขณะเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งกังวลว่า อาจเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นระหว่างกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยนโยบายเข้าหาจีนของนายโซกาวาเร เคยทำให้เกิดการจลาจลต่อต้านรัฐบาลมาแล้ว และเกิดเหตุความรุนแรงที่เขตไชน่าทาวน์ ในกรุงโฮนีอารา ในปี 2562 และ 2564
“ในขณะที่กระบวนการดำเนินไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล และประกาศชื่อนายกรัฐมนตรี เราเคยเห็นมาก่อนแล้วว่ามีความรุนแรงปะทุขึ้น และนั่นคือปัญหาน่ากังวลสำหรับเจ้าหน้าที่และพันธมิตรของโซโลมอน” ดร.นิวตัน เคนกล่าว
เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กชั่วคราวไปตั้งไว้รอบสถานทูตจีน ขณะที่ตำรวจท้องถิ่นก็กำลังรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่จากออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี
...
การเลือกตั้งชี้ชะตาประเทศ
หากนายโซกาวาเรชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ก็อาจมองได้ว่า ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายของเขาในการกระชับความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่หมู่เกาะโซโลมอนแล้วหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น การสร้างท่าเรือ, ถนน และเครือข่ายโทรคมนาคม
“เขา (โซกาวาเร) มองมันเป็นการพาหมู่เกาะโซโลมอนออกสู่แผนที่โลก เขามองว่ามันคือการยืนอยู่ถูกฝั่งในประวัติศาสตร์ และอาจถูกฝั่งทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เขาเคยพูดไว้ว่า เขาอยากรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเก่าแก่อย่างออสเตรเลีย และอาจรวมถึงสหรัฐฯ ด้วย” ดร.นิวตัน เคน กล่าว
แต่หาผู้นำเปลี่ยนมือไปเป็น นายแมทธิว เวล หรือ ปีเตอร์ เคนิโลเรอา จูเนียร์ ดร.นิวตัน เคน คาดว่า เราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ จุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศของพวกเขาต่างจากโซกาวาเรา อาจเอียงเข้าหาชาติตะวันตกมากขึ้น และหาทางผูกมิตรกับออสเตรเลียและสหรัฐฯ ต่อไป
แต่สำหรับชาวโซโลมอน อาจมีเพียงชนชั้นกลางในกรุงโฮนีอารา และบางส่วนในเมืองมาไลตาเท่านั้น ที่โหวตโดยให้ความสำคัญเรื่องปัญหาระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้โหวตส่วนใหญ่ กำลังเผชิญปัญหาและความต้องการอย่างปัจจุบันทันด่วน จึงมักลงคะแนนให้ผู้สมัครที่เชื่อว่า สามารถช่วยเหลือพวกเขา, ครอบครัว หรือสังคมของพวกเขาได้ ด้วยความช่วยเหลือทางกายภาพโดยตรง
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : cna , bbc
...