ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าววิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล เรื่องแนวทางการทำสงครามในฉนวนกาซาว่า "ผิดพลาด" 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (9 เม.ย.) ว่า แนวทางการทำสงครามในฉนวนกาซาของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล ถือเป็น "ความผิดพลาด" และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของอิสราเอล

ไบเดน กล่าวในความคิดเห็นต่อ "ยูนิวิชัน" (Univision) ซึ่งเป็นเครือข่ายโทรทัศน์ภาษาสเปนของสหรัฐฯ ว่า "ผมคิดว่าสิ่งที่เขาทำคือความผิดพลาด ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเขา" 

ก่อนหน้านี้ ไบเดน เคยเรียกการโจมตีทิ้งระเบิดของอิสราเอลในฉนวนกาซาว่า "ขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน" และปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล "เกินกว่าเหตุ"

ทำเนียบขาวกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ประธานาธิบดีไบเดน ได้พูดคุยกับ นายเนทันยาฮู และขู่ว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนการโจมตีของอิสราเอลแบบมีเงื่อนไข โดยดำเนินขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ และพลเรือน การพูดคุยดังกล่าวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของกลุ่มบรรเทาทุกข์ "เวิลด์ เซ็นทรัล คิตเชน" (World Central Kitchen) เสียชีวิต 7 ศพ

ไบเดน กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า "สิ่งที่ผมเรียกร้องคือให้อิสราเอลเสนอการหยุดยิง โดยให้เวลาอีก 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้สามารถลำเลียงอาหารและยาเข้าไปในกาซา"

การโจมตีทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซากลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อิสราเอลเองยังเผชิญกับการประท้วงหลายเดือนจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม ชาวมุสลิม และชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับทั่วประเทศ ซึ่งเรียกร้องให้มีการหยุดยิงถาวรในฉนวนกาซา และจำกัดความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ต่ออิสราเอล

...

การโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ของกลุ่มฮามาส คร่าชีวิตผู้คนไป 1,200 ศพ จากข้อมูลของอิสราเอล ส่วนการโจมตีทางทหารในเวลาต่อมาของอิสราเอลในฉนวนกาซาซึ่งปกครองโดยกลุ่มฮามาส ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 33,000 ศพ ตามการระบุของกระทรวงสาธารณสุขกาซา ทำให้ประชากรเกือบ 2.3 ล้านคนต้องพลัดถิ่น และนำไปสู่ข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อิสราเอลให้การปฏิเสธ

อิสราเอลได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นๆ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าความช่วยเหลือประจำปีจะลดลงเป็นเวลา 2 ปี หลังสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ส่งไปยังยูเครน นับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียในปี 2565

ตามปกติแล้ว สหรัฐฯ จะกล่าวปกป้องอิสราเอลในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และวีโต้ร่างมติ 3 ฉบับ เกี่ยวกับสงครามในฉนวนกาซา เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ กลับงดออกเสียงหลังคณะมนตรีความมั่นคงลงมติเรียกร้องให้หยุดยิงโดยทันที.

ที่มา Reuters

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign