ปีเตอร์ ฮิกส์ นักฟิสิกส์ผู้คิดค้นทฤษฎีการมีอยู่ของอนุภาคฮิกส์ เพื่อตอบคำถามเรื่องมวลของสสารต่างๆ ในจักรวาล เสียชีวิตแล้วขณะมีอายุ 94 ปี

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ศ.ปีเตอร์ ฮิกส์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ชาวสหราชอาณาจักร ผู้คิดค้นทฤษฎีการมีอยู่ของ ฮิกส์โบซอน หรือ อนุภาคฮิกส์ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2556 จากผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ฮิกส์โบซอน ช่วยเชื่อมโยงจักรวาลเอาไว้ด้วยกันอย่างไร เสียชีวิตแล้วขณะมีอายุได้ 94 ปี

มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ออกแถลงการณ์เปิดเผยข่าวการเสียชีวิตของ ศ.ฮิกส์ โดยระบุว่า เขาเสียชีวิตที่เมืองหลวงของสกอตแลนด์แห่งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 8 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกับยกย่องฮิกส์ว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีพรสวรรค์อย่างแท้จริง และมีวิสัยทัศน์กับจินตนาการที่เพิ่มพูนความรู้ของเราเกี่ยวกับโลกที่อยู่รอบตัวเรา

ข่าวการเสียชีวิตของฮิกส์ทำให้บุคคลสำคัญในวงการฟิสิกส์มากมายออกมาร่วมแสดงความอาลัย รวมถึง ศ.ไบรอัน ค็อกซ์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ซึ่งระบุผ่าน X ว่า ชื่อของเขาจะถูกได้รับการจดจำ ตราบเท่าที่เรายังศึกษาฟิสิกส์ด้วยฮิกส์โบซอน

ด้านนางฟาบิโอลา จานอตติ ผู้อำนวยการของเซิร์น บอกกับ บีบีซี ว่า ปีเตอร์ ฮิกส์ เป็นคนพิเศษมาก และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักฟิสิกส์ทั่วโลก นอกจากนั้นเขายังเป็นคนที่ถ่อมตนอย่างหาได้ยาก, เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้ที่อธิบายเรื่องฟิสิกส์ด้วยวิธีง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง “ฉันเสียใจมาก และฉันจะคิดถึงเขาอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ ในปี 2507 ฮิกส์ กับนักฟิสิกส์อีก 5 คน ใน 3 ทีม พยายามหาคำอธิบายว่า ทำไมอนุภาคมูลฐานซึ่งเป็นส่วนประกอบของสสารในจักรวาลจึงมีมวล เพราะตามทฤษฎีธรรมชาติของอนุภาคมีมวลแต่ละตัว ซึ่งชี้ว่า พวกมันไม่ได้มีมวลมาตั้งแต่ต้น แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พวกมันเกิดมวลขึ้นมา

...

พวกเขาจึงได้ตั้งทฤษฎีการมีอยู่ของสนามพลังบางอย่างกระจายอยู่ทั่วจักรวาล ที่ทำให้เกิดมวลขึ้นในอนุภาค และสนามพลังที่ว่าก็เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘สนามฮิกส์’ (Higgs field) ส่วนกลไกการทำงานของมันซึ่งทำให้เกิดมวลในอนุภาคต่างๆ ก็ถูกเรียกว่า ‘กลไกฮิกส์’ (Higgs mechanism)

กลไกฮิกส์ เป็นสิ่งที่รอการพิสูจน์มาตลอด โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งโจทย์ว่า หากทฤษฎีนี้ถูกต้อง อนุภาคที่เป็นผลผลิตของมัน ซึ่งได้รับชื่อว่า ‘ฮิกส์โบซอน’ (Higgs boson) หรืออนุภาคฮิกส์ ก็ควรมีอยู่จริง

จนกระทั่งในปี 2555 นักวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุดในโลก LHC ที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ เซิร์น (CERN) ในสวิตเซอร์แลนด์ และในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบอนุภาคฮิกส์โบซอน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าทฤษฎีอายุเกือบ 50 ปีนี้ถูกต้อง

ปีต่อมา 2556 ปีเตอร์ ฮิกส์ กับ ฟรองซัวส์ อองแกลร์ต นักฟิสิกส์จากเบลเยียม ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่ศึกษาเรื่องการมีอยู่ของอนุภาคฮิกส์ ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปีนั้นไปครอง ในฐานะผู้สร้างทฤษฎีที่ทำนายการมีอยู่ของอนุภาคใหม่ที่เรียกว่า อนุภาคฮิกส์

อนึ่ง อนุภาคฮิกส์ บางครั้งก็ถูกเรียกว่า ‘อนุภาคพระเจ้า’ โดยถูกเรียกตามชื่อหนังสือของ นักฟิสิกส์ เลออน ลีเดอร์แมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2531 ที่เขียนเกี่ยวกับอนุภาคฮิกส์ โดยชื่อนี้มักถูกสื่อนำไปใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจให้มากขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมองว่าเป็นชื่อที่ไม่เหมาะสม เพราะนอกจากมันจะไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับพระเจ้าแล้ว มันยังทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับรากฐานทางฟิสิกส์ และไม่ได้อธิบายต้นกำเนิดของจักรวาลด้วย.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc