หน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป เผยเดือนมีนาคม 2567 เป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยอุณหภูมิพุ่งทุบสถิติทุกเดือนต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกันแล้ว

หน่วยงานสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปหรืออียู ชี้โลกเราเพิ่งเผชิญกับเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยอุณหภูมิพุ่งสูงทำลายสถิติติดต่อกันมานาน 10 เดือนแล้ว ขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

บริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (C3S) ของอียู ระบุว่า ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 14.14 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมเมื่อปี 2016 ถึงประมาณ 10 องศา นอกจากนี้เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนมีนาคมตั้งแต่ปี 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม อยู่ที่ประมาณ 1.68 องศาเซลเซียส และไม่ใช่เพียงแค่ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น ที่มีการทำลายสถิติเดิมของตัวเองมาต่อเนื่อง แต่ยังนับเป็น 12 เดือนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติเอาไว้ในปี 1940 ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นก็เกิดจากก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์นั่นเอง

...

ซาแมนธา เบอร์เจส รองผู้อำนวยการ C3S ระบุว่า นี่เป็นแนวโน้มระยะยาวที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อดูจากสถิติสูงสุด เดือนต่อเดือน ยิ่งเป็นการสะท้อนว่าสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยปี 2023 ก็นับเป็นปีที่โลกร้อนสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติไว้ในปี 1850 แล้ว

โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แห่งสหประชาชาติ เคยเตือนว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงต้นปี 2030 โดยเป็นการตั้งเป้าเป็นรอบทศวรรษมากกว่าจะมองเป็นรายปี

ขณะเดียวกันอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรก็ทำสถิติโลกไปแล้วในเดือนมีนาคม โดยมีอุณหภูมิอยู่ที่เฉลี่ย 21.07 องศาเซลเซียส โดยมหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของโลก และช่วยรักษาสภาพภูมิอากาศให้น่าอยู่โดยการดูดซับความร้อนส่วนเกิน 90 เปอร์เซ็นต์อันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเอาไว้ เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น จะยิ่งเพิ่มความชื้นในชั้นบรรยากาศทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน อย่างกระแสลมแรงและฝนตกหนักตามมา.

ที่มา : อัลจาซีรา

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ ร้อน