กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมายึดค่ายทหาร 7 แห่ง และศูนย์บัญชาการรัฐบาลใน จ.เมียวดี หลังจากต่อสู้อย่างดุเดือดนานราว 4 วัน
ข่าวระบุว่า เครื่องบินรบของกองทัพรัฐบาลเมียนมาพยายามออกโจมตีกองกำลังฝ่ายกบฏจากกลุ่ม ‘สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง’ (KNU) และ ‘กองกำลังพิทักษ์ประชาชน’ (PDF) แต่ไม่สามารถหยุดยั้งฝ่ายกบฏ จากการบุก จ.เมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง บริเวณชายแดนทางตะวันออกได้
นอกจากนั้นฝ่ายกบฏยังยึดคลังอาวุธขนาดใหญ่ รวมถึง ปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์, ปืนครก, ปืนกล, เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี, ปืนไรเฟิลจู่โจมตีอีกหลายร้อยกระบอก และเครื่องกระสุนจำนวนมาก ที่กองทัพรัฐบาลทหารเหลือทิ้งไว้ขณะล่าถอย
แหล่งข่าวอ้างด้วยว่า ทหารหลายร้อยนายจากกองพันที่ 275 จากค่ายทหารหลักในเมืองเมียวดี ยอมจำนนต่อกองกำลังฝ่ายกบฏเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายงานของสำนักข่าว บีบีซี ทำให้ฝ่ายกบฏเข้าควบคุม จ.แห่งนี้ได้โดยสมบูรณ์ โดย จ.เมียวดีเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอแม่สอด จ.ตาก ของไทย
มีรายงานด้วยว่าผู้นำฝ่ายกบฏจะจัดประชุมกัน เพื่อหารือเรื่องการบริหาร จ.เมียวดี และความเป็นไปได้ในการแทนที่ธงชาติเมียนมาด้วยธงชาติกะเหรี่ยงของกลุ่ม KNU ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลทหารมานานหลายสิบปีแล้ว
ด้านกองกำลังความมั่นคงของไทยบริเวณชายแดน อยู่ในสถานะเฝ้าระวังเพื่อรับมือการอพยพของประชาชนจากเมียนมาที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในวันอาทิตย์ เสียงปืนและเสียงระเบิดค่อนข้างเงียบสงบ
ทั้งนี้ กลุ่ม KNU ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมานับตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชในปี 2491 อย่างไรก็ตาม พวกเขาประสบความพ่ายแพ้ต่อรัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2520-30 และหลังจากปี 2558 พวกเขาก็ยอมทำข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติ (NCA) กับรัฐบาล ร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีก 7 กลุ่ม
...
แต่การก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมาในปี 2564 ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป KNU ประกาศว่าการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซาน ซูจี นั้น ทำให้ข้อตกลงหยุดยิงเป็นโมฆะแล้ว
ขณะเดียวกัน เนื่องจากรัฐกะเหรี่ยงอยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ที่สุดของเมียนมาอย่าง ย่างกุ้ง และเป็นส้นทางเชื่อมต่อกับชายแดนไทยที่ดีที่สุด รัฐแห่งนี้จึงกลายเป็นจุดหมายปลายที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเดินทางไป เพื่อหลบหนีการปราบปรามของกองทัพหลังเกิดการรัฐประหาร
ที่นั่น KNU ช่วยเหลือในการฝึกฝนกองกำลังอาสาสมัครจากเมืองต่างๆ ที่มาเข้าร่วมเพื่อเริ่มโจมตีฐานที่มั่นทางทหารของฝ่ายรัฐบาลรอบใหม่ KNU ยังพยายามประสารการโจมตีกับกลุ่มติดอาวุธขนาดใหญ่อื่นๆ อย่าง กองกำลังชาติพันธุ์กะเรนนี (KNDF) และกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)
สมดุลอำนาจในรัฐกะเหรี่ยงเปลี่ยนไปเข้าทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ หลังจากกลุ่มติดอาวุธขนาดใหญ่อย่าง กองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (Karen BGF) ซึ่งควบคุมพื้นที่ชายแดน ด้วยเงินทุนที่ได้จากศูนย์สแกมเมอร์และการสนับสนุนจากรัฐบาลทหาร เปลี่ยนฝั่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
การโจมตีที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วเมียนมา ทำให้กองทัพรัฐบาลยังไม่สามารถเข้ามาเสริมกำลังในรัฐกะเหรี่ยงได้ และสูญเสียการควบคุมถนนสายหลักบริเวณชายแดนไปหลายแห่ง ซึ่งรัฐบาลทหารพยายามตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศเข้าใส่พื้นที่ ที่ตอนนี้ถูกควบคุมโดยฝ่ายกบฏแล้วมากขึ้น
การต่อสู้ในรัฐกะเหรี่ยงทำให้ประชาชนที่ไม่ใช่นักรบติดอาวุธหลายพันคนต้องเสียบ้านและที่อยู่ ขณะที่มีรายงานว่า ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินทางเข้าใกล้ชายแดนไทย เพื่อหลบเลี่ยงการโจมตีทางอากาศ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดหลายวันข้างหน้า
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign