มนุษย์ได้จ้องมองท้องฟ้ามานาน เพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับซุปเปอร์โนวา ที่เป็นการระเบิดของดาวฤกษ์ ย้อนกลับไปหลายพันปี เหตุการณ์เหล่านี้สร้างองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต เช่น แคลเซียมในฟัน ธาตุเหล็กในเลือด เพราะเมื่อดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ดวงหนึ่งระเบิด ก็จะกระจายต้นกำเนิดขององค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตออกสู่อวกาศ ทว่าเงื่อนไขที่ทำให้ดาวฤกษ์ระเบิดยังคงเป็นปริศนา
เมื่อเร็วๆนี้นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์ มันน์ ในอิสราเอล มีความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์อันน่าทึ่งเหล่านี้ เนื่องจากประมาณ 1 ปีที่แล้ว ทีมวิจัยสังเกตเห็นแสงหนึ่งส่องมาถึงโลกโดยบังเอิญ ได้รับการระบุว่าเป็นแสงจากเหตุการณ์ซุปเปอร์โนวา จึงใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและเล็งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เพื่อส่องสำรวจและบันทึกภาพของที่มาของซุปเปอร์โนวานั้น ต่อมาการวิจัยพบว่าแสงมาจากการระเบิดของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในกาแล็กซีเมซซิเย 101 (Messier 101) ที่อยู่ไม่ไกลนัก โดยการระเบิดเกิดขึ้นเมื่อ 20 ล้านปีก่อน และแสงดังกล่าวมาจากช่วงระยะเวลาแรกของการระเบิดของดาวฤกษ์นั่นเอง
นักวิจัยสงสัยว่าหลังจากดาวฤกษ์ยักษ์ดวงนี้ระเบิด ได้ทิ้งหลุมดำไว้เบื้องหลัง โดยเป็นหลุมดำที่เพิ่งก่อตัวขึ้น เกิดขึ้นจากการที่มวลของดาวฤกษ์เพียงเล็กน้อยได้ยุบลงสู่ใจกลางและก่อตัวเป็นหลุมดำใหม่.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่