ทีมวิจัยในประเทศฮังการีพิสูจน์แล้วว่า สุนัขสามารถเข้าใจคำพูดของคนได้มากกว่าที่เคยเชื่อกัน และมันสามารถเข้าใจได้ว่าคำต่างๆ หมายถึงสิ่งของชนิดใด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการวิจัยใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศฮังการี ชี้ว่า สุนัขสามารถเข้าใจคำพูดของเราได้มากกว่าที่เคยเชื่อกันในตอนแรก โดยมันสามารถจดจำชื่อของของเล่นชิ้นโปรดของพวกมันได้ ไม่ใช่แค่คำสั่งง่ายๆ อย่าง “นั่ง” หรือ “หยุด”

เจ้าของสุนัขหลายคนอาจเคยมีความรู้สึกว่า สัตว์เลี้ยงของพวกเขาพูดภาษาเดียวกันกับพวกเขา การบอกให้สุนัข “ไปเอาลูกบอลมา” พวกมันก็มักจะไปคาบลูกบอลลูกโปรดมาให้

นักวิทยาศาสตร์พยายามมาตลอดในการหาข้อพิสูจน์ว่า สุนัขแค่ทำตามคำสั่งไปตามความเคยชิน โดยไม่รู้ความหมายของมัน หรือมีการนึกภาพขึ้นมาในหัวจริงๆ เวลาที่พวกมันได้ยินชื่อสิ่งของ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในภาษาอย่างลึกซึ้ง คล้ายกับที่มนุษย์มี

ล่าสุด ผลการวิจัยใหม่ในประเทศฮังการีพบว่า สุนัขไม่เพียงสามารถทำตามคำสั่งอย่าง “กลิ้งไปรอบๆ” ได้ แต่พวกมันยังสามารถเรียนรู้คำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของต่างๆ ได้ อันเป็นความสัมพันธ์ทางภาษาที่เรียกว่า ‘ความเข้าใจอย่างมีข้ออ้างอิง’ (referential understanding) ซึ่งไม่เคยได้รับการพิสูจน์มาก่อนว่าสุนัขก็มีด้วย จนกระทั่งตอนนี้

ดร.มารีอันนา โบรอส นักวิจัยจากคณะพฤติกรรมวิทยา มหาวิทยาลัยโอตโวส โลรันด์ กล่าวว่า “ความยากก็คือ เมื่อพวกมันต้องทำตามคำสั่ง มันเป็นร่างกายของตัวเอง พวกมันจึงเข้าใจได้ง่าย แต่เมื่อเราพูดถึงสิ่งของ สิ่งของเป็นสิ่งภายนอกสำหรับสุนัข พวกมันจึงต้องเรียนรู้ว่าคำต่างๆ สื่อถึงอะไร มันแทนที่บางสิ่งที่อยู่นอกตัวมัน และดูเหมือนนี่จะเป็นเรื่องยาก และเป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานในวิวัฒนาการของภาษาและวิทยาศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ ว่าสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์สามารถทำได้หรือไม่”

...

การศึกษาใหม่นี้เกิดขึ้นที่คณะพฤติกรรมวิทยา ของมหาวิทยาลัยโอตโวส โลรันด์ ในกรุงบูดาเปสต์ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ติดแผ่นอิเล็กโทรด (electrode) สำหรับตรวจจับคลื่นไฟฟ้าไว้ที่ศีรษะของสุนัข เพื่อวัดกิจกรรมทางสมองของมัน โดยเจ้าของสุนัขที่เข้าร่วมการทดสอบด้วย จะคอยเปิดคลิปเสียงที่พวกเขาพูดชื่อของเล่นชิ้นโปรดของสุนัข เช่น ‘ลูกบอล’ หรือ ‘จานร่อน’ แล้วหยิบของให้สุนัขดู

นักวิทยาศาสตร์ตรวจวัดการทำงานทางสมองของสุนัขเมื่อสิ่งของในคลิปตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งของที่ถูกหยิบมาแสดงให้ดู ซึ่งผลที่ออกมาน่าสนใจมาก

“เราคาดว่า หากสุนัขเข้าใจความหมายของคำ ของคำเรียกสิ่งของนั้นๆ จริงๆ มันก็คงคาดหวังจะได้เห็นของสิ่งนั้น และหากเจ้าของหยิบสิ่งที่แตกต่างออกไป มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ปฏิกิริยาประหลาดใจ’ ในสมอง และนี่คือสิ่งที่พวกเราพบ เราพบว่าสมองของมันตอบสนองต่างๆ กันตอนที่เจ้าของหยิบสิ่งของที่ตรงกัน กับของที่ไม่ตรงกันให้พวกมันดู” ดร.โบรอส กล่าว

ทีมนักวิจัยทำการทดลองดังกล่าวกับสุนัข 18 ตัว แสดงให้เห็นว่าพวกมันมีรูปแบบการทำงานของสมองแตกต่างออกไป ในตอนที่เจ้าของให้พวกมันดูสิ่งของที่ตรงกับคำพูดบอกจากคลิปเสียง กับตอนที่สิ่งของไม่ตรงกัน บ่งชี้ว่าสัตว์ชนิดนี้มีการสร้างภาพสิ่งของขึ้นในใจ ตามชื่อของสิ่งของที่ได้ยิน และมีปฏิกิริยาในตอนที่พวกมันเห็นสิ่งที่ไม่ตรงกับสิ่งที่พวกมันคาดเอาไว้

“ตอนเราศึกษาสุนัขเหล่านี้ เราไม่ได้ศึกษาแค่สุนัข แต่เรายังพยายามบอกบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับมนุษย์ เพื่อให้ในตอนที่เราพยายามค้นหาขีดความสามารถบางอย่างในสุนัข หรือทำความเข้าใจกระบวนการทำงานทางสมองต่อการกระตุ้นประเภทต่างๆ เราจะได้เรียนรู้ไปในเวลาเดียวกันว่าอะไรที่สุนัขกับคนมีเหมือนกัน และอะไรที่อาจมีเฉพาะในมุนษย์เท่านั้น และคำถามที่ว่า เหตุใดมนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ใช้คำพูดและภาษาอย่างกว้างขวาง ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สนใจมาตั้งแต่แรกแล้ว”

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์เริ่มนำสุนัขมาเลี้ยงเป็นครั้งแรกเมื่อราว 30,000 ปีก่อน และมันก็ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับเรามานับแต่นั้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าสุนัขได้รับความสามารถในการเข้าใจภาษาแบบมีข้ออ้างอิงระหว่างการวิวัฒนาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งทีมวิจัยตั้งใจที่จะทำการศึกษาต่อไปเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้

แต่สำหรับเจ้าของสุนัข ผลการวิจัยนี้ยืนยันสิ่งที่พวกเขาสงสัยอยู่แล้วว่าสุนัขเข้าใจหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาพูดจริงๆ.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : ap