ไม่ได้มีแต่เมืองไทยที่ต้องเผชิญกับทศวรรษที่สูญเปล่า ประเทศย่ำอยู่กับที่และไม่ได้รับการพัฒนาราวกับตกหลุมอากาศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา,สุขภาพ หรือเศรษฐกิจปากท้อง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในทศวรรษที่ผ่านมารู้สึกสิ้นหวัง และเกิดอาการป่วยใจเพราะรู้สึกว่าไม่มีหนทางที่จะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้
ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม, ความอยุติธรรม, ความเหลื่อมล้ำ และการเล่นพรรคเล่นพวก อาจทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกเจ็บปวดและผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สำหรับ “ชาร์ลส์ ริชาร์ด ริก สไนเดอร์” ผู้คิดค้นทฤษฎีแห่งความหวัง เชื่อว่า คนที่มีความหวังมักประสบความสำเร็จ และมีสุขภาพกายใจที่ดีกว่าคนที่ดำดิ่งจมทุกข์อยู่กับความสิ้นหวัง ปล่อยให้พลังชีวิตลดลง
แม้จะเติบโตมาท่ามกลางแรงกดดันทางชนชั้นและความสิ้นหวัง แต่แค่เปลี่ยนความคิดชีวิตก็เปลี่ยนได้ ด้วยการเชิดชู “ความหวัง” ให้ เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต
“สไนเดอร์” ชี้ถึง 3 องค์ประกอบสำคัญในการหล่อเลี้ยงความหวัง 1) “Goals” ชีวิตที่มีเป้าหมาย 2) “Pathways” การค้นหา เส้นทาง หรือกระบวนการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น และ 3) “Agency” ความเชื่อมั่นว่าเราจะทำได้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตได้
ความหวังจะเกิดขึ้นเมื่อชีวิตมีเป้าหมาย ไม่ใช่สักแต่หายใจไปวันๆ เริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆเก็บแต้มความสำเร็จไปเรื่อยๆ จนถึงเป้าหมายใหญ่ที่สำคัญกับชีวิต โดยทุกเป้าหมายควรเป็นเป้าหมายที่มีความหมายกับตัวตนของเรา จริงๆ แทนที่จะทุ่มเททำเพื่อคนอื่นตลอดเวลา จนอาจหลงลืมที่จะให้ความสำคัญกับตัวเอง กว่าจะรู้สึกตัวก็หมดพลังไร้เรี่ยวแรงซะแล้ว
...
“สไนเดอร์” แนะนำให้หมั่นถามตัวเองว่าเป้าหมายนี้สำคัญกับเราอย่างไร และอะไรคือคุณค่าที่ยึดถือ การพิชิตเป้าหมายใหญ่ในชีวิตไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร เพื่อให้ถึงเส้นชัยเร็วที่สุด แต่เป็นการฝึกเดินเร็วด้วยก้าวเล็กๆก้าวสั้นๆ จนกลายเป็นก้าวที่ไกลขึ้นพร้อมพุ่งทะยานสู่แต่ละเป้าหมาย ที่สำคัญคือ “การลงมือทำ” เปลี่ยนแผนการในหัวให้ออกมาเป็นภาพที่ปฏิบัติได้จริง
ภายใต้ทฤษฎีแห่งความหวัง เขายังเชื่อว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยน แปลงชีวิตได้ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติในใจ เมื่อคุณคิดอย่างไร คุณก็จะเป็นเช่นนั้น ลองระบายความคิดเก่าๆที่น่าเหน็ดเหนื่อยออกไป และใส่ความคิดสร้างสรรค์สดใหม่ที่เต็มไปด้วยความศรัทธา, ความรัก และความหวัง จะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ กลายเป็นคนประสบความสำเร็จที่เต็มไปด้วยพลังบวก
“ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน” นักปราชญ์ผู้หลักแหลมชาวอเมริกัน ชี้ไปในทางเดียวกันว่า สิ่งที่เราเป็นคือผลจากความคิด ของเราเอง ตามธรรมชาติแล้วมีแนวโน้มที่มนุษย์จะเปลี่ยนไปตามนิสัยการคิดของตัวเอง เพราะความคิดคือสิ่งที่ทรงพลัง เราสามารถคิดให้ ตัวเองพบเจอ หรือหลุดพ้น จากสถานการณ์ใดๆก็ได้ ความคิดสามารถทำให้เราเจ็บป่วยได้ และความคิดก็สามารถทำให้เราหายเป็นปลิดทิ้งได้ โดยการคิดบวกที่แตกต่างออกไป
เมื่อคิดในแง่บวกจะกระตุ้นให้เกิดพลังที่ดึงดูดสิ่งดีๆในแง่บวกมาให้เรา ความคิดที่เป็นบวกสร้างสภาวะแวดล้อมรอบตัวเราที่จะพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ในทางบวก ตรงข้ามกับการคิดลบ เราได้สร้างสภาวะแวดล้อมที่พัฒนาให้เกิดผลในทางลบขึ้น และดึงดูดสิ่งแย่ๆ เข้ามาในชีวิต
วิธีแก้นิสัยชอบคิดลบ ลองเริ่มคิดให้แตกต่างออกไป อย่ายอมรับสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ แต่ให้สร้างภาพสตอรี่บอร์ดในใจว่ามันควรเป็นอย่างไร รักษาภาพนั้นไว้ตลอดเวลา ค่อยๆใส่รายละเอียดให้มันด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา สุดท้ายเราก็จะสามารถทำให้มันเป็นจริงเหมือนภาพในใจได้
เลิกบั่นทอนกำลังใจตัวเองด้วยการคิดลบ มาเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังบวก.
มิสแซฟไฟร์