ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโครงสร้างและโยธา ผู้ออกแบบสะพานหลายแห่งในสหรัฐฯ เปิดใจไขข้อสงสัย เหตุใดสะพานในบัลติมอร์ถึงพังถล่มอย่างรวดเร็ว หลังจากถูกเรือชนที่ตอม่อสะพาน

หลังเกิดเหตุสะพานในบัลติมอร์ถูกเรือบรรทุกสินค้าชนจนพังถล่ม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมต่างจับตามองผลการตรวจสอบที่จะออกมา เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมสะพานดังกล่าวถึงได้พังลงมาอย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญในการออกแบบโครงสร้างสะพาน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต

ซึ่งล่าสุด เดวิด ไนท์ วิศวกรด้านโครงสร้างและโยธา ที่ปรึกษาแห่งสถาบันวิศวกรพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสะพานหลายแห่ง ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับข้อสงสัยนี้กับทางสำนักข่าวเอพีว่า สะพานนี้เป็นสะพานโครงเหล็กที่ทอดยาวเกินสามช่วง จึงมีเสาตอม่อหลักสองต้น โดยที่ไม่มีเสารองรับตรงส่วนปลายทั้งสองข้าง และเนื่องจากเป็นลักษณะโครงสร้างที่ต่อเนื่องกัน จึงไม่มีโครงสร้างอื่นมาคั่นบริเวณตอม่อสะพาน ซึ่งในเวลาปกติระยะของสะพานนี้จะแบ่งน้ำหนักร่วมกันโดยไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อบางส่วนขาดหายไป เหมือนกับหนังสือบนชั้นวางที่ถูกดึงออกไป ก็จะทำให้หนังสือเล่มอื่นๆ ล้มตามๆ กัน เช่นเดียวกับสะพานทั้ง 3 ส่วนที่ดึงกันและกันจนถล่มลงมานั่นเอง

...

นายไนท์ ระบุว่า ความต่อเนื่องของโครงสร้างสะพาน ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างมากในแง่ของประสิทธิภาพและใช้วัสดุน้อยลง และทำให้ง่ายต่อการสร้าง แต่จะขาดความแข็งแรงเล็กน้อยเมื่อเกิดเหตุการณ์สุดขั้วแบบนี้ขึ้น ในขณะที่สะพานในยุคใหม่ๆ จะได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้ทนทานต่อการชนในลักษณะนี้ แม้ว่าจะไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็ตาม

นายไนท์ ระบุว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าความผิดพลาดในการเคลื่อนที่ของเรือเกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงจุดใดที่เป็นเส้นทางน้ำในการเดินเรือ เพื่อจะวางจุดติดตั้งตอม่อหลักในจุดที่เหมาะสมไม่ขวางทางเรือ จากนั้นจึงมาพิจารณาต่อว่าส่วนที่เปราะบางที่สุดของโครงสร้างสะพานในจุดนั้นคืออะไร ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็คือตอม่อหลักของสะพาน สิ่งที่ควรดำเนินการก็คือการปกป้องส่วนเปราะบางเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีการสร้างโครงสร้างอื่นๆ รอบๆ เสาตอม่อเพื่อเป็นการป้องกันไว้อีกชั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้วัสดุคอนกรีตที่รองรับแรงกระแทกได้ เพื่อไม่ให้เรือเข้ามาใกล้เสาตอม่อมากเกินไป หรืออาจจะสามารถติดตั้งเป็นกันชนไฮโดรลิก หรือใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วย ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยให้แก่สะพานได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เดวิด ไนท์ ยืนยันว่า สะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ถูกสร้างขึ้นในลักษณะเดียวกับสะพานอีกหลายแห่งที่สร้างขึ้นบริเวณชายฝั่งในสหรัฐอเมริกาในช่วงราวปี 1970 โดยเฉพาะเครือข่ายถนนเชื่อมต่อระหว่างรัฐ ซึ่งจะต้องสร้างให้เรือสามารถลอดสะพานไปได้ โดยยืนยันว่าเป็นโครงสร้างสะพานที่มีความมั่นคงปลอดภัย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้บรรดาวิศวกรจะต้องมีการสื่อสารและเรียนรู้ ขณะที่เมืองต่างๆ จะต้องเร่งตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด และหามาตรการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในลักษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก.

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ สะพานบัลติมอร์